กรมทรัพยากรธรณีแถลงพบ “รอยเลื่อนเวียงแหง” รอยเลื่อนมีพลังที่ 16 ของประเทศไทย

4861

“รอยเลื่อนเวียงแหง” รอยเลื่อนมีพลังที่ 16 ของประเทศไทย

       เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2562 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรธรณี จัดงานแถลงข่าวสื่อมวลชน ในประเด็นหัวข้อ “รอยเลื่อนเวียงแหง : รอยเลื่อนมีพลังที่ 16 ของประเทศไทย” โดยมี นายสมหมาย เตชวาล อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี เป็นประธาน พร้อมด้วยหน่วยงานพันธมิตรด้านธรณีพิบัติภัยแผ่นดินไหว ประกอบด้วย กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 1 กรมทรัพยากรธรณี

       นายสมหมาย เตชวาล อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี เปิดเผยว่า กรมทรัพยากรธรณี ดำเนินการสำรวจรอยเลื่อนมีพลังซึ่งเป็นบริเวณศูนย์เกิดแผ่นดินไหว พบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีแนวรอยเลื่อนมีพลัง จำนวน 15 กลุ่มรอยเลื่อน ประกอบด้วย 1) กลุ่มรอยเลื่อนแม่จัน 2) กลุ่มรอยเลื่อนแม่อิง 3) กลุ่มรอยเลื่อนเมย 4) กลุ่มรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ 5) กลุ่มรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ 6) กลุ่มรอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน 7) กลุ่มรอยเลื่อนแม่ทา 8) กลุ่มรอยเลื่อนเถิน 9) กลุ่มรอยเลื่อนพะเยา 10) กลุ่มรอยเลื่อนอุตรดิตถ์ 11) กลุ่มรอยเลื่อนปัว 12) กลุ่มรอยเลื่อนระนอง 13) กลุ่มรอยเลื่อนคลองมะรุ่ย 14) กลุ่มรอยเลื่อนแม่ลาว และ 15) กลุ่มรอยเลื่อนเพชรบูรณ์ โดยกลุ่มรอยเลื่อนมีพลังดังกล่าวพาดผ่านพื้นที่ 22 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งกรมทรัพยากรธรณี ได้ทำการสำรวจธรณีวิทยาแผ่นดินไหวโบราณกาล พบว่ารอยเลื่อนมีพลังในประเทศไทยเคยก่อให้เกิดแผ่นดินไหวขึ้นในอดีต สูงสุดขนาด 7.0 จัดเป็นแผ่นดินไหวค่อนข้างใหญ่ (Strong Earthquake) มีรอบการเกิดในคาบเวลา 1,000 ปี

ciQxo0.jpg

       “รอยเลื่อนเวียงแหง” รอยเลื่อนมีพลังที่ 16 ของไทย มีการวางตัวตามแนวเหนือ-ใต้ บริเวณใกล้ชายแดนประเทศเมียนมา จาก อ.เวียงแหง ถึง อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ มีความยาวประมาณ 100 กิโลเมตร พาดผ่าน 37 หมู่บ้าน ใน ๘ ตำบล ของ ๔ อำเภอ จัดเป็นชนิดรอยเลื่อนปกติที่มีการเลื่อนตัวลงในแนวดิ่งเป็นหลัก (Normal fault) โดยมีอัตราการเลื่อนตัวระยะยาว 0.11 มิลลิเมตรต่อปี ขณะที่รอยเลื่อนมีพลัง 15 แห่ง (เดิม) ประกอบด้วย รอยเลื่อนแม่จัน จังหวัดเชียงราย – เชียงใหม่, รอยเลื่อนแม่อิง จังหวัดเชียงราย, รอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน – ตาก, รอยเลื่อนเมย จังหวัดตาก – กำแพงเพชร, รอยเลื่อนแม่ทา จังหวัดเชียงใหม่ – ลำพูน – เชียงราย, รอยเลื่อนเถิน จังหวัดลำปาง – แพร่, รอยเลื่อนพะเยา จังหวัดพะเยา – เชียงราย – ลำปาง, รอยเลื่อนปัว จังหวัดน่าน, รอยเลื่อนอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์, รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ จังหวัดกาญจนบุรี, รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี – กำแพงเพชร – อุทัยธานี – ตาก, รอยเลื่อนระนอง จังหวัดระนอง – ชุมพร – ประจวบคีรีขันธ์ – พังงา, รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย จังหวัดสุราษฏร์ธานี กระบี่ – พังงา – ภูเก็ต, รอยเลื่อนเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ – เลย และ รอยเลื่อนแม่ลาว จังหวัดเชียงราย

     ทั้งนี้ กรมทรัพยากรธรณี เปิดเผยถึงความสำคัญของการค้นพบรอยเลื่อนมีพลังใหม่ของประเทศไทย เพื่อสร้างการรับรู้เรื่องการรับมือจากภัยพิบัติแผ่นดินไหว ที่ในอนาคตอาจมีโอกาสเกิดขึ้น ดังนั้น ข้อมูลรอยเลื่อนมีพลังใหม่ จึงเป็นประโยชน์ทั้งในส่วนภาครัฐ ที่จะมีข้อมูลเพื่อใช้เฝ้าระวัง ป้องกัน และรับมือเชิงพื้นที่โดยเฉพาะการเป็นข้อมูลสำคัญ ให้กรมโยธาธิการและผังเมือง ใช้กำหนดหลักเกณฑ์การก่อสร้างอาคาร บ้านเรือน ในพื้นที่รอยเลื่อนดังกล่าว จะต้องเพิ่มความระมัดระวัง และกำหนดโครงสร้างที่แข็งแรง มากกว่าพื้นที่อื่น ๆ ขณะที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จะได้ใช้ข้อมูลนี้ เพื่อเตรียมการป้องกัน รับมือเหตุภัยพิบัติจากแผ่นดินไหว ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

     อย่างไรก็ตาม จากการค้นพบรอยเลื่อนใหม่ ถือว่าเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากลักษณะทางธรณีวิทยาของประเทศไทย ไม่ถือว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงมากเหมือนในเมียนมา หรือ ญี่ปุ่น ดังนั้น ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหว ไม่ควรกังวล หรือตื่นตระหนก เพราะหากเทียบกับปัจจุบัน ในพื้นที่เวียงแหง และพื้นที่ใกล้เคียง ถือว่าอยู่ใกล้เคียงกับจุดรอยเลื่อนอื่นๆ ซึ่งสามารถเกิดการสั่นสะเทือน ในระดับ 2 – 3 อยู่เป็นปกติอยู่แล้ว เมื่อทราบว่าอยู่ในแนวรอยเลื่อนมีพลังใหม่ ประชาชนจึงควรรับรู้ และตระหนักถึงวิธีการรับมือ พร้อมคำนึงถึงการก่อสร้างอาคาร บ้านพัก ที่ต้องให้ความสำคัญเรื่องโครงสร้างเพิ่มมากขึ้นด้วย

ciQRtR.jpg
ciQQGu.jpg