สถาบันวิจัยดาราศาสตร์ ฯ เผยภาพดาวพฤหัสบดีเคียงดวงจันทร์เสี้ยว 28 พ.ย. 62

2003
ดาวเคียงเดือน

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์ ฯ เผยภาพดาวพฤหัสบดีเคียงดวงจันทร์เสี้ยว 28 พ.ย. 62

ชวนติดตามความงามต่อเนื่อง 29-30 พ.ย. 62

     สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เผยภาพดาวพฤหัสบดีเคียงดวงจันทร์เสี้ยวบาง พร้อมดาวศุกร์สว่าง และดาวเสาร์ ค่ำวันที่ 28 พ.ย. 62 เชิญชวนประชาชนติดตามความงามของดาวเคียงเดือนต่อเนื่องอีกสองคืน

     ช่วงค่ำวันที่ 28 พฤศจิกายน 2562 ดาวพฤหัสบดีปรากฏเคียงดวงจันทร์เสี้ยวบาง ข้างขึ้น 2 ค่ำ เหนือขึ้นไปมีดาวศุกร์และดาวเสาร์ส่องสว่างเรียงตัวกัน จากนั้นวันที่ 29 พฤศจิกายน 2562 ดวงจันทร์ข้างขึ้น 3 ค่ำ จะเคลื่อนขึ้นไปปรากฏระหว่างดาวศุกร์กับดาวเสาร์ และในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2562 ดวงจันทร์ข้างขึ้น 4 ค่ำ จะเคลื่อนขึ้นไปปรากฏใกล้ดาวเสาร์ ห่างประมาณ 6.8 องศา (การวัดระยะเชิงมุมท้องฟ้า ใช้มือเหยียดสุดแขนขึ้นบนฟ้า ระยะ 1 องศา จะห่างกันประมาณ 1 นิ้วก้อย) สังเกตได้ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า เวลาประมาณ 18:00 น. เป็นต้นไป มีเวลาสังเกตการณ์ประมาณ 1-2 ชั่วโมง

     เนื่องจากช่วงนี้เป็นช่วงฤดูหนาว สภาพท้องฟ้าใสไร้เมฆ จึงมีโอกาสสังเกตเห็น “ปรากฏการณ์แสงโลก” (Earth Shine) เกิดจากแสงอาทิตย์ที่ตกกระทบผิวโลก สะท้อนไปยังดวงจันทร์ ทำให้ผู้สังเกตบนโลกมองเห็นพื้นผิวส่วนที่มืดของดวงจันทร์ นอกจากนี้ ดาวพฤหัสบดี ดาวศุกร์ และดาวเสาร์ ในช่วงนี้ยังปรากฏให้เห็นทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ทุกเย็น จึงขอเชิญชวนผู้สนใจชมความสวยงามของปรากฏการณ์ท้องฟ้าในช่วงเวลาดังกล่าว สามารถดูได้ด้วยตาเปล่าทั่วประเทศ

blank blank blank