กรมปศุสัตว์ออกประกาศ! สั่งห้ามนำเข้าหมูจากประเทศลาว หลังพบอหิวาต์แอฟริกาในสุกรระบาด

1872

กรมปศุสัตว์ออกประกาศ! สั่งห้ามนำเข้าหมูจากประเทศลาว หลังพบอหิวาต์แอฟริกาในสุกรระบาด

     ประกาศกรมปศุสัตว์ เรื่อง ชะลอการนําเข้าหรือนําผ่านราชอาณาจักรซึ่งสุกร หมูป่า หรือซากสุกร ซากหมูป่า จากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ด้วยองค์การสุขภาพสัตว์โลก World Organisation for Animal Health : (OIE) ได้รายงานสถานการณ์ การระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever) ในสุกรในหมู่บ้าน ณ แขวงสาละวัน (Saravane) สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งโรคระบาดสัตว์ชนิดดังกล่าวสามารถแพร่กระจายไปอย่างกว้างขวางได้ โดยมีสาเหตุสําคัญมาจากการเคลื่อนย้ายสัตว์ป่วยหรือสัตว์ที่เป็นพาหะนําโรคหรือซากของสัตว์ซึ่งป่วยหรือตาย โดยโรคระบาดดังกล่าวไปยังท้องที่ต่าง ๆ และเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้โรคระบาดสัตว์ชนิดดังกล่าวมีโอกาส แพร่กระจายเข้ามาในประเทศ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรและหมูป่าในประเทศ

อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 6 ประกอบกับมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 อธิบดีกรมปศุสัตว์จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้ชะลอการนําเข้าหรือนําผ่านราชอาณาจักรซึ่งสุกร หมูป่า หรือซากสุกร ซากหมูป่า ที่มีแหล่งกําเนิดจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

ข้อ 2 ประกาศฉบับนี้ให้มีผลใช้บังคับได้เป็นเวลาเก้าสิบวันนับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศ ในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

     ซึ่งขณะนี้ยังไม่พบการระบาดในประเทศไทย แต่ทางจังหวัดเชียงใหม่ ได้มีการจัดตั้งศูนย์ war room เฝ้าระวังโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร เพื่อเตรียมแผนรับมือการเกิดโรคได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ

     นายพงศ์พัฒน์ ขัตพันธุ์ ปศุสัตว์จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร เป็นโรคระบาด ในสุกรที่มีความรุนแรงและก่อให้เกิดความสูญเสียต่อสุกร ปัจจุบันพบโรคระบาดที่ประเทศจีน เมื่อเดือนสิงหาคม ปีที่ผ่านมา หลังจากการเฝ้าระวังติดตามพบว่ามีการระบาดในอีก 5 ประเทศ ได้แก่ มองโกเลีย เกาหลีเหนือ ฮ่องกง เวียดนาม และกัมพูชา ส่วนประเทศไทยยังไม่พบการระบาด แต่เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสในสุกรได้เข้ามาถึงประเทศกัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งมีพื้นที่ติดกับประเทศไทย จังหวัดเชียงใหม่จึงได้มีการเตรียมแผนการป้องกันควบคุมและกำจัดโรคนี้ โดยจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวัง (War room) จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีแผนรับมือก่อนเกิดโรค โดยการเฝ้าระวังในทุกพื้นที่ เพิ่มประสิทธิภาพของฟาร์มเลี้ยงสุกร รวมทั้งสร้างความรู้ให้ความเข้าใจให้กับทุกภาคส่วน เพื่อให้รับทราบและไม่เกิดความตื่นตระหนก นอกจากนี้ ยังจัดเตรียมแผนรับมือระหว่างเกิดโรค และแผนดำเนินการหลังจากสถานการณ์ยุติ ทั้งนี้ยืนยันว่า โรคนี้ยังไม่มีการแพร่ระบาดในประเทศไทย และโรคนี้ไม่มีการติดต่อในคน

     ทั้งนี้ ขอให้ผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย หรือโรงฆ่าสัตว์ เฝ้าระวัง หากพบสุกรมีอาการที่น่าสงสัยและผิดปกติ คือ มีอาการผื่นแดงบริเวณหู ท้อง ขาหนีบ หรือผิวหนัง ให้แจ้งสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อทำการตรวจสอบต่อไป