เชียงใหม่คุมเข้ม! ตั้งด่านตรวจ-จุดสกัด ตลอด 24 ชั่วโมง ควบคุมการแพร่ระบาด ‘โควิด-19’
นายรัฐพล นราดิศร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า สำหรับการตั้งด่านตรวจหรือจุดสกัด เพื่อดูแลการเดินทางข้ามเขตพื้นที่ตำบล/หมู่บ้าน ตาม พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 โดยให้มีการจัดตั้งจุดคัดกรอง ควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 นั้น จังหวัดเชียงใหม่ได้สั่งการให้ทุกอำเภอจัดทำคำสั่งมอบหมายให้บูรณาการเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง กองกำลังทหาร เจ้าหน้าที่สาธารณสุข กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงอาสาสมัครในพื้นที่ ให้มีมาตรการตั้งด่านตรวจหรือจุดสกัด ดูแลการเดินทางข้ามเขตพื้นที่ในทุกตำบล/หมู่บ้าน ทางเข้า-ออกพื้นที่ตำบล/หมู่บ้าน เพื่อจัดระเบียบการเดินทาง การจราจร การเฝ้าระวัง และสังเกตอาการของผู้เดินทาง และพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดต่อโรค ตั้งแต่ เวลา 00.01 น. ของวันพฤหัสบดีที่ 26 มีนาคม 2563 เป็นต้นมา โดยให้มีเจ้าหน้าที่ประจำจุดตลอด 24 ชั่วโมง
สำหรับในพื้นที่อำเภอสารภี ดอยสะเก็ด แม่อาย ฮอด แม่แตง และดอยเต่า นอกเหนือจะต้องดำเนินการดังกล่าวแล้ว จังหวัดได้มอบหมายเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไปปฏิบัติหน้าที่ประจำจุดตรวจฯ ร่วมกับด่านตรวจฯ ของตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ ทั้ง 6 จุด อีกด้วย ได้แก่อำเภอสารภี ขาเข้า บริเวณหน้าปั๊ม ปตท.สารภี (ถนนเชียงใหม่ – ลำพูน) อำเภอดอยสะเก็ด ขาเข้า บริเวณหน้าสถานีตำรวจภูธร อ.ดอยสะเก็ด อำเภอแม่อาย ขาเข้า บริเวณตู้ยามแสนสุข ต. ท่าตอน อ.แม่อาย อำเภอฮอด ขาเข้า บริเวณตู้ยามตำรวจทางหลวงฮอด อ.ฮอด อำเภอแม่แตง ขาเข้า บริเวณตู้ยามบ้านไร่ อ. แม่แตง และอำเภอดอยเต่าขาเข้า บริเวณตู้ยามท่าเดื่อ อ.ดอยเต่า ซึ่งวิธีการคัดกรองนั้น จะเป็นการคัดกรองบุคคล ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่เดินทางมาจากพื้นที่แพร่ระบาดอันตราย 4 ประเทศ ได้แก่ เกาหลี จีน อิตาลี อิหร่าน รวมถึง 2 เขตบริหารพิเศษ ได้แก่ มาเก๊า และฮ่องกง และคัดกรองบุคคลที่เข้ามาจากกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยจังหวัดเชียงใหมได้สั่งการให้ทีม COVID-19 ในทุกหมู่บ้าน/ชุมชน ออกไปค้นหาคัดกรอง ติดตาม โดยให้ทำ Home Quarantine แต่ทั้งนี้ จังหวัดได้ประสานสถานีขนส่งผู้โดยสาร สถานีรถไฟเชียงใหม่ การท่าอากาศยานเชียงใหม่ ให้จัดส่งรายชื่อบุคคลที่เดินทางเข้ามาทั้ง 3 ช่องทางดังกล่าว เพื่อจัดส่งรายชื่อให้ทีมค้นหา COVID-19 ของหมู่บ้าน/ตำบล เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบต่อไป
โดยข้อมูลจำนวนผู้เดินทางจากกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เข้าพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ณ วันที่ 26 มีนาคม 2563 รวมจำนวน 1,199 คน ประกอบตัวย ผู้โดยสารที่เดินทางโดยรถโดยสารประจำทาง 357 คน รถไฟ 68 คน เครื่องบิน 774 คน ซึ่งที่ทำการปกครองจังหวัดเชียงใหม่ ได้จัดส่งข้อมูลผู้เดินทางทั้งหมดให้ทุกอำเภอ เพื่อใช้เป็นข้อมูลติดตามบุคลในพื้นที่เรียบร้อยแล้ว
ด้านนายแพทย์ชาญชัย พจมานวิพุธ รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลนครพิงค์ ได้เปิดเผยสถานการณ์ผู้ป่วยในจังหวัดเชียงใหม่ล่าสุดว่า พบผู้ป่วยติดเชื้อยืนยันเพิ่ม 4 ราย รวมผู้ป่วยติดเชื้อยืนยันสะสมรวม 19 ราย กลับบ้านแล้ว 1 ราย และยังคงรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 18 ราย ซึ่งรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลสันทราย 2 ราย โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ 1 ราย โรงพยาบาลนครพิงค์ 6 ราย และโรงพยาบาลประสาทเชียงใหม่ อีก 9 ราย ส่วนผู้ป่วยเข้าเกณฑ์เฝ้าระวังโรคขณะนี้มี 561 ราย กลับบ้านแล้ว 484 ราย และยังอยู่ในโรงพยาบาลอีก 77 ราย
สำหรับการสอบสวนโรคของผู้ป่วยติดเชื้อยืนยันใหม่จำนวน 4 ราย นั้น พบว่า 3 ราย สัมผัสต่อเนื่องมาจากผู้ป่วยยืนยันรายที่เป็นดีเจ/เอ็มซี ทำงานอยู่ที่ Sound up Pub และ WB Pub ส่วนอีก 1 ราย เป็นผู้ป่วยที่เดินทางกลับมาจากประเทศอังกฤษ ในวันที่ 11 มีนาคม 2563 เที่ยวบิน TG911 ลงที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ต่อเครื่องไปยังจังหวัดเชียงราย และกักตัวเองอยู่ที่บ้าน จนเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2563 เริ่มมีไข้ และอยู่บ้านกินยาลดไข้เอง และในวันที่ 25 มีนาคม 2563 ได้ขับรถจากจังหวัดเชียงรายมายังโรงพยาบาลกรุงเทพ เชียงใหม่ ซึ่งในเบื้องต้นพบว่าในเที่ยวที่ TG911 นั้น ไม่พบว่ามีผู้สัมผัสที่เสี่ยง
อีกกรณีซึ่งมีการแชร์ข่าวโดยทั่วไปว่า พบผู้ป่วยติดเชื้อในสำนักงานประกันสังคมจังหวัดเชียงใหม่นั้น ขณะนี้ ได้เข้าสู่กระบวนการสอบสวนโรคแล้ว เนื่องจากมีความสนิทสนมกับผู้ป่วยติดเชื้อยืนยันที่ติดมาจากรายที่เป็นดีเจ/เอ็มซี ทำงานอยู่ที่ Sound up Pub และ WB Pub อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ประกันสังคมรายดังกล่าวยังไม่เรียกว่าเป็นผู้ป่วย เนื่องจากตอนนี้ยังไม่มีอาการ ซึ่งต้องรอผลการตรวจยืนยันต่อไป