จังหวัดเชียงใหม่ เตรียมพร้อมดีเดย์ ปลูกป่าพร้อมกันทั้งจังหวัด ทดแทนพื้นที่ป่าที่ถูกลักลอบเผา พร้อมแนะวิธีการบริหารจัดการเชื้อเพลิง โดยนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาสร้างมูลค่าให้กับชุมชนแทนการเผา
เช้าวันนี้ (16 เม.ย.63) นายคมสัน สุวรรณอัมพา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วย พลเอก อำนาจ รอดสวัสดิ์ คณะทำงานรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ร่วมประชุมคณะทำงานศูนย์บัญชาการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จังหวัดเชียงใหม่ รวมทั้งติดตามสถานการณ์การเกิดจุดความร้อนในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอแม่แจ่ม และอำเภอสะเมิง ซึ่งจากรายงานสถานการณ์หมอกควันไฟป่าจังหวัดเชียงใหม่ ช่วงเช้าวันนี้ พบจุดความร้อนเหลือเพียง 9 จุด ลดลงจากเช้าเมื่อวาน 22 จุด เนื่องจากเมื่อคืนที่ผ่านมามีฝนตกหนักในหลายอำเภอของจังหวัดเชียงใหม่ จึงทำให้สถานการณ์ไฟป่าในจังหวัดเชียงใหม่คลี่คลายไปในทิศทางที่ดี ทั้งนี้ยังส่งผลให้ค่าคุณภาพอากาศดีขึ้นด้วย
นายคมสัน สุวรรณอัมพา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้กล่าวขอบคุณทุกอำเภอที่ได้ระดมกำลังจากทุกภาคส่วน ร่วมกันในการแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่า พร้อมขอความร่วมมือให้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง หลังจากเสร็จสิ้นประกาศจังหวัดเชียงใหม่ในวันที่ 30 เมษายน นี้ อาจมีหลายพื้นที่ที่ต้องการบริหารจัดการเชื้อเพลิงพร้อมกัน โดยเน้นย้ำให้ทุกอำเภอยังเฝ้าระวังไม่ให้คนเข้าไปในป่า จัดชุดลาดตระเวนประจำหมู่บ้าน บูรณาการทั้งฝ่ายปกครอง ทหาร ตำรวจ ป่าไม้ อุทยาน รวมทั้งชาวบ้าน เข้าไปสำรวจทุกพื้นที่ ทั้งเขตป่า พื้นที่ผ่อนผันเพื่อการเกษตร และพื้นที่เกษตรกรรมของประชาชนทั่วไปที่เป็นพื้นที่เสี่ยง เพื่อป้องปรามไม่ให้เกิดการลักลอบเผาป่าอีก
นอกจากนี้ ทางจังหวัดได้ประชุมกับ 25 อำเภอ ในการเตรียมแผนการบริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่ เพื่อให้การบริหารจัดการเชื้อเพลิงเป็นไปอย่างมีระบบ โดยให้นายอำเภอกลับไปตรวจสอบพื้นที่ในการบริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่ของตนอีกครั้ง และเน้นย้ำว่าพื้นที่ดังกล่าวจะต้องไม่ใช่พื้นที่ที่เคยเกิดจุดความร้อนมาก่อน พร้อมขอให้ทุกอำเภอบูรณาการข้อมูลร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งสร้างความรู้ความเข้าใจกับประชาชน
เมื่อถึงช่วงเวลาในการบริหารจัดการเชื้อเพลิง ซึ่งที่ผ่านมาทางจังหวัดได้สั่งการให้ทุกอำเภอดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ควบคู่ไปกับการบังคับใช้กฎหมาย ส่วนการบริหารจัดการเชื้อเพลิงตามหลักวิชาการ ทางจังหวัดได้วางแนวทางไว้แล้ว นอกจากจะใช้วิธีการเผา ยังมีวิธีการอื่น เช่น การนำใบไม้มาทำเป็นปุ๋ยหมัก การทำเป็นถ่านอัดแท่งเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม การไถกลบตอซัง หรือการประยุกต์ใช้วัตถุดิบที่เหลือใช้ทางการเกษตร มาทำการเพาะเห็ด เพื่อเพิ่มมูลค่าและลดมลภาวะการเกิดหมอกควันที่เกิดจากการเผา จากฐานเรียนรู้การผลิตเห็ดเศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ซึ่งทางจังหวัดได้พิจารณาแล้วและจะนำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมให้ทุกอำเภอดำเนินการจัดหาตำบลที่จะเป็นตัวอย่างในการบริหารจัดการเชื้อเพลิง โดยไม่ใช้วิธีการเผาในพื้นที่ นอกจากนี้ เพื่อเป็นการคืนผืนป่า ทางจังหวัดได้ให้ทุกอำเภอเตรียมกล้าไม้ ไม้ยืนต้น เพื่อปลูกต้นไม้ทดแทนพื้นที่ป่าที่ถูกลักลอบเผาให้กลับมาสมบูรณ์อีกครั้ง เบื้องต้นกำหนดให้ปลูกพร้อมกันทุกอำเภอภายในเดือนพฤษภาคมนี้ โดยดึงประชาชน เด็กและเยาวชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วม เพื่อเป็นการสร้างความตระหนักรู้ ให้รู้สึกหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติที่มีค่าต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คนในชุมชน