พบเด็กที่ฝางเสียชีวิตจากไข้เลือดออกแล้ว 1 ราย พบระบาดมากสุดใน อ.เมือง อ.ฮอด และ อ.จอมทอง
นางสุธีรัตน์ มหาสิงห์ หัวหน้ากลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ช่วงนี้เป็นฤดูฝนเป็นช่วงระบาดของโรคไข้เลือดออก จึงต้องดำเนินการและติดตามสถานการณ์ของโรคไข้เลือดออกอย่างใกล้ชิด จากการเฝ้าระวังและการวิเคราะห์ทางระบาดวิทยาของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ พบว่าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 22 มิถุนายน 2562 จังหวัดเชียงใหม่พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก จำนวน 383 ราย เป็นคนไทย 343 ราย คิดเป็น 21.40% และชาวต่างชาติ 40 ราย พื้นที่ที่พบผู้ป่วยมากที่สุด ได้แก่ อำเภอเมืองเชียงใหม่ อำเภอฮอด และอำเภอจอมทอง ตามลำดับ ซึ่งในขณะนี้ มีผู้เสียชีวิตแล้ว 1 ราย เป็นเด็กชาย อายุ 12 ปี ภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำเภอฝาง เสียชีวิตเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน ที่ผ่านมา
ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ได้ดำเนินการตามมาตรการเฝ้าระวังโรค โดยทีมสอบสวนโรคโรงพยาบาลนครพิงค์ ทำการสอบสวนโรค ณ หอผู้ป่วยโรงพยาบาลนครพิงค์ และทีมสอบสวนโรคอำเภอฝางลงพื้นที่สอบสวนการระบาด และควบคุมโรคในพื้นที่ พร้อมทั้งได้มีการเปิดประชาคมในหมุ่บ้าน ให้ความรู้ ทำ Big Cleaning Day และพ่น ULV ในวันที่ 26 มิถุนายน 2562 สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ได้สนับสนุนทรายทีมีฟอส , สเปรย์ฆ่ายุง และครีมทากันยุง พร้อมทั้งให้ทางพื้นที่เร่งควบคุมแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายโดยเร็ว และเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
นางสุธีรัตน์ มหาสิงห์ กล่าวย้ำเตือนประชาชนว่า โรคไข้เลือดออก เป็นโรคที่พบได้ในทุกกลุ่มอายุ ประชาชนควรสังเกตอาการของตนเองและคนในครอบครัว หากมีอาการไข้สูงเฉียบพลันและไข้นานเกินกว่า 2 วัน อ่อนเพลีย ปวดเมื่อย หน้าตาแดง อาจมีผื่นขึ้นใต้ผิวหนังตามแขนขา ข้อพับ ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง ต้องรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลโดยเร็ว เพื่อรับการวินิจฉัย เพราะหากเข้ามารับการวินิจฉัยช้า อาจเป็นเหตุสำคัญทำให้มีโรคแทรกซ้อนรักษายากขึ้นและเป็นปัจจัยที่ทำให้เสียชีวิตได้
ทั้งนี้ขอแนะนำให้ประชาชนทุกกลุ่มอายุ โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคอ้วน เบาหวาน และความดันโลหิตสูง เป็นต้น ป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงกัดโดยยึดหลัก 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค คือ 1.เก็บบ้านให้สะอาด ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง 2.เก็บขยะ เศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ 3.เก็บน้ำ ภาชนะใส่น้ำต้องปิดฝาให้มิดชิดป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่ จะสามารถป้องกันทั้ง 3 โรคในคราวเดียวกัน คือ 1.โรคไข้เลือดออก 2.โรคติดเชื้อไวรัสซิกา 3.โรคไข้ปวดข้อยุงลาย หากพบแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายที่ไม่สามารถกำจัดได้ สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือ อสม. ในเขตพื้นที่ของท่าน เพื่อดำเนินการกำจัดต่อไป สำหรับการกำจัดยุงลายตัวเต็มวัยภายในบ้าน และการป้องกันไม่ให้ยุงกัดโดยใช้ยาทากันยุง นอนกางมุ้ง รวมทั้งการเลี้ยงปลาหางนกยุง การใช้ทรายทีมีฟอส และขัดทำความสะอาดภาชนะสำหรับกักเก็บน้ำ ทุก 7 วัน จะช่วยลดการแพร่ระบาดของโรคได้