โฆษก ศบค. เผย 8-12 พ.ค.เปิดรับฟังความเห็นประชาชน ก่อนเสนอ ศบค. ออกมาตรการผ่อนปรนระยะ 2 ที่จะเริ่ม 17 พ.ค. ขณะนายกฯ พอใจการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ย้ำให้ดูแลผู้ตกหล่นจากมาตรการต่าง ๆ
วันที่ 7 พฤษภาคม 2563 เวลา 11.30 น. ณ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวัน มาตรการในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.)
โดยในวันนี้มีการประชุม ศบค. ชุดใหญ่ นายกรัฐมนตรีในนามผู้อำนวยการ ศบค. กล่าวในที่ประชุมว่า ให้ทุกภาคส่วนดูแลช่วงระยะการเปลี่ยนผ่านในเฟสต่าง ๆ อย่างเข้มงวด ลดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโควิด-19 ในภาคส่วนต่าง ๆ แม้สถานการณ์ยังอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ แต่ต้องดำเนินการเชิงรุก ดูแลการเข้า-ออกต่างประเทศผ่านช่องทางต่าง ๆ อย่างเข้มงวด เพื่อไม่ให้มีการนำเชื้อเข้ามาจากต่างประเทศ มีการเข้าสู่สถานกักกันที่รัฐจัดให้ หรือ State Quarantine/Local Quarantine และมาตรการการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด ห้ามละเลยมาตรการฉุกเฉินในระยะที่ 1 โดยให้ ศบค. ด้านความมั่นคง ทหาร ตำรวจ ด้านสาธารณสุข เข้าตรวจให้เป็นไปตามมาตรฐานและข้อกำหนด ประสานผู้ประกอบการท้องถิ่นให้ดำเนินการตามมาตรการ และดูแลติดตามอย่างใกล้ชิด รวมทั้งพิจารณามาตรการในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านการต่างประเทศ รายงานผลกระทบจากการผ่อนคลายสถานการณ์ รวมถึงแนวทางการแก้ไขโดยเฉพาะการช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ ข้อเสนอของผู้ประกอบการ และเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบ และเก็บตกผู้ที่ตกหล่นให้เข้าถึงการช่วยเหลือเยียวยา ดูแลเจ้าหน้าที่ให้ได้รับเบี้ยเลี้ยงตามสิทธิ
ผู้อำนวยการ ศบค. ได้มีข้อชี้แนะว่า ให้มีมาตรการและแนวทางเฉพาะของกิจการ/กิจกรรม เช่น รถไฟฟ้า ต้องมีมาตรการที่รองรับจำนวนคนที่แออัด มาตรการสำหรับผู้ให้บริการ ในกรณีรถเสีย การขายตั๋วโดยสารให้พอเหมาะในสถานการณ์นั้น ๆ พร้อมให้ทั้ง 20 กระทรวงประชาสัมพันธ์ภารกิจของแต่ละกระทรวงที่เชื่อมโยงในสถานการณ์นี้
ในที่ประชุมมีความคิดเห็นตรงกันคือ 1. การเหลื่อมเวลาทำงาน โดยมอบรองนายกฯ นายวิษณุ เครืองาม ซึ่งควบคุมกำกับดูแลสำนักงานข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ได้ดูแล 2. เน้นย้ำนโยบายทำงานที่บ้าน หรือ Work From Home อย่างน้อยร้อยละ 50 ซึ่งจะลดการเคลื่อนย้ายของประชากรได้ 3. สถานศึกษาที่ได้ขยายช่วงเวลาของการเปิดภาคเรียนออกไป และมีการใช้เทคโนโลยีในการเรียนการสอน และจะต้องพัฒนาในรูปแบบต่าง ๆ ออกไป 4. กิจกรรมในสวนสาธารณะ ที่ได้คลายมาตรการเพื่อให้ประชาชนได้มีสุขภาพที่ดี แต่ต้องไม่แพร่กระจายโรค
โฆษก ศบค. กล่าวถึงช่วงระยะเวลา ตารางเวลาคร่าว ๆ ของการเกิดมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 2 ที่จะเกิดขึ้น โดยเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ได้แจ้งให้ทราบ เพื่อเป็นชุดข้อมูลให้มีโอกาสได้เตรียมการ คือ วันที่ 8-12 พ.ค. จะเป็นช่วงการรับฟังความเห็น หลังจากประกาศมาตรการไปเมื่อวันที่ 3 พ.ค. ที่ผ่านมา จะดูชุดข้อมูลทั้งเชิงสถิติ เชิงสถานการณ์ และความคิดเห็นต่าง ๆ วันที่ 13 พ.ค. จะมีการซักซ้อมความเข้าใจ วันที่ 14 พ.ค. จะยกร่างข้อกำหนดมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 2 และนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี ถ้าไม่มีเหตุการณ์ที่ทำให้ตัวเลขพุ่งขึ้นมากมายไปกว่านี้ วันที่ 17 พ.ค. ก็จะเริ่มออกมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 2 ต่อไป ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความร่วมมือจากทุก ๆ คน ทั้งผู้ประกอบการและประชาชนผู้ใช้บริการ
นายกรัฐมนตรี ได้มีข้อเสนอสรุปเกี่ยวกับการดำเนินการด้านต่างประเทศ แต่ละประเทศก็แตกต่างกันไป เช่น ประเทศจีน เกาหลีใต้ ก็สามารถควบคุมสถานการณ์ได้จนตัวเลขผู้ติดเชื้อมาอยู่ที่เลขหลักหน่วยแล้ว โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เสนอการพิจารณาปรับการประกาศรายชื่อประเทศ และถอนรายชื่อบางประเทศออกไป เพื่อที่จะได้ทำงานและมีความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจ สังคม ที่ดีต่อกัน ซึ่งนายกรัฐมนตรีและที่ประชุมเห็นชอบ แต่ก็ต้องมีการนำไปสู่การดำเนินการต่าง ๆ โดยเฉพาะกิจกรรมต่าง ๆ ที่ต้องพึ่งพาการเดินทาง จึงต้องระมัดระวังด้วย อย่างไรก็ตามแม้จะมีการปลดล็อกตรงนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเดินทางเข้าประเทศได้ทันที แต่จะต้องมีมาตรการต่าง ๆ รองรับโดยในที่ประชุมจะต้องมีการหารือเพิ่มเติมร่วมกันอีกครั้ง
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังได้กล่าวถึงการทำงานร่วมกันโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียนว่า น่าจะมีการรวมกลุ่มร่วมกันลงทุนทางด้านวัคซีนให้ได้ประโยชน์ร่วมกัน รวมทั้งหารือถึงมาตรการการผ่อนผันให้มีแรงงานที่มีความสามารถเข้ามาได้ อาจจะให้เป็น Smart Visa เพื่อคนที่เก่งมีความสามารถอยากจะกลับมาจากต่างประเทศ จะได้มีบุคลากรที่ดีเข้ามาทำงาน รวมทั้งการจัดตั้ง Test lab หรือการพัฒนาชุดอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ โดยเฉพาะการทำ Personal Protective Equipment หรือชุด PPE ทั้งนี้ หากมีระดับของการทดสอบอยู่ในประเทศไทยด้วยก็จะดี
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงการเยียวยาผู้ที่มีผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สังคมโดยเฉพาะการเข้าถึงการกู้เงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือซอฟท์โลน พร้อมย้ำถึงการฟื้นฟู ซึ่งขณะนี้ได้รับแผนงานจาก 20 ผู้นำทางเศรษฐกิจของประเทศไทยแล้ว โดยอาจจะใช้แนวทางเหล่านี้ประกอบกับทางภาครัฐเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนและฟื้นฟูกันได้