มท. สั่งตั้งศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล เทศบาลนคร และเทศบาลเมือง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ในทุกระดับพื้นที่

1068

กระทรวงมหาดไทย สั่งผู้ว่าราชการจังหวัด ตั้งศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล เทศบาลนคร และเทศบาลเมือง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ในทุกระดับพื้นที่

    เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2563 นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการสั่งการและประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ได้มีคำสั่งที่ 2/2563 ลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2563 เรื่อง แนวปฏิบัติตามข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 กำหนดให้ ศปก.จังหวัด ศปก.อำเภอ ศปก.ตำบล และ อปท. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ กำกับ ดูแล ตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

U8pcQt.jpg
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยได้สั่งการไปยังทุกจังหวัด ให้ดำเนินการตั้งศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรค (ศปก.) ในแต่ละระดับ โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นผู้แต่งตั้งศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคจังหวัด (ศปก.จ.) นายอำเภอ เป็นผู้แต่งตั้งศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคอำเภอ (ศปก.อ.) และศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคตำบล (ศปก.ต.) และนายกเทศมนตรีเทศบาลนคร/เทศบาลเมือง เป็นผู้แต่งตั้งศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคเทศบาลนคร/เทศบาลเมือง (ศปก.ทน./ศปก.ทม.) ตามโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด พร้อมทั้งให้กำกับ ดูแล และติดตามการดำเนินงานให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันโรคในพื้นที่โดยเคร่งครัด

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นั้น จะมีทั้งมาตรการควบคุมหลัก เช่น การทำความสะอาดในบริเวณสถานที่สำหรับให้บริการประชาชน การสวมหน้ากากอนามัย การให้มีจุดบริการล้างมือเพื่อฆ่าเชื้อโรค การให้เว้นระยะห่างระหว่างโต๊ะและระหว่างที่นั่ง รวมถึงระยะห่างระหว่างการเดินอย่างน้อย 1 เมตร และการให้ควบคุมจำนวนผู้ใช้บริการมิให้แออัด เป็นต้น และมาตรการเสริม อาทิ มาตรการคัดกรองอาการป่วย มาตรการป้องกันโรคสำหรับผู้ให้บริการ มาตรการป้องกันการชุมนุมของคนหมู่มาก การลดเวลาในการทำกิจกรรมให้สั้นลงเท่าที่จำเป็น การงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายในสถานที่จำหน่ายอาหาร การจัดให้มีพื้นที่ห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร และอาจเพิ่มมาตรการใช้แอปพลิเคชั่นติดตามตัวทางโทรศัพท์เคลื่อนที่มาใช้ได้ตามความเหมาะสมและความจำเป็น หรือใช้มาตรการควบคุมด้วยการบันทึกข้อมูลและรายงานในบางพื้นที่ก็ได้