โฆษก ตร. เผยหลังผ่อนคลายมาตรการครบ 7 วัน พบภาพรวมการกระทำผิดสูงขึ้นโดยเฉพาะการฝ่าฝืนเคอร์ฟิวและมั่วสุมตั้งวงดื่มสุรา
โฆษก ตร. ชี้แจงการวิเคราะห์สถิติหลังการผ่อนคลายมาตรการครบ 7 วัน ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) โดยผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้หารือร่วมกับผู้บัญชาการเหล่าทัพต่าง ๆ ในการดำเนินการปรับแผนการปฏิบัติงาน จากเดิมที่มีการตั้งด่านตรวจและมีสายตรวจบางส่วน หลังจากมีการผ่อนคลายมาตรการนั้น ได้เพิ่มสายตรวจร่วม ทั้งตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง กรุงเทพมหานคร และฝ่ายสาธารณสุข ลงสู่พื้นที่ต่าง ๆ ที่มีการผ่อนคลายมากขึ้น รวมทั้งการทำงานในช่วงเวลาเคอร์ฟิว มีตัวเลขที่น่าสนใจจากการรวบรวมสถิติ ระหว่างเปรียบเทียบ 7 วันก่อนหน้าการผ่อนคลายมาตรการ กับหลังการผ่อนคลายมาตรการ 7 วัน พบว่า เรื่องการออกนอกเคหสถานช่วงเคอร์ฟิว หรือการรวมกลุ่มมั่วสุมที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ หลังจากที่มีการผ่อนคลาย ภาพรวมการกระทำผิดมีสูงขึ้น จากเดิม 7 วันก่อนหน้ามีประมาณ 4,407 คดี หลังวันที่ 3 พ.ค. จนถึงวันที่ 10 พ.ค. เป็น 5,363 คดี เพิ่มขึ้นประมาณ 900 กว่าคดี คิดเป็น ร้อยละ 21 เฉพาะเรื่องของความผิดออกนอกเคหสถานช่วงเคอร์ฟิว เพิ่มขึ้นประมาณ 827 คดี เนื่องจากยังมีพี่น้องประชาชนบางส่วนไม่ปรับการใช้ชีวิตประจำวัน ออกนอกบ้านโดยไม่มีเหตุอันควร
เรื่องการมั่วสุมที่ก่อให้เกิดการแพร่เชื้อโรค จากเดิมประมาณ 664 คดี เพิ่มขึ้นไปเป็น 704 คดี เพิ่มมา 40 คดี ความผิดเรื่องการมั่วสุมในการดื่มสุรานั้นสูงขึ้น จาก 300 เป็น 600 ถือเป็นเปอร์เซ็นต์ที่สูง เรื่องของการพนัน จำนวนคดีลดลง แต่พบว่า 1 คดี เดิมอาจจะมีคนเล่น 3-4 คน แต่ระยะหลัง ๆ พบ 1 คดี มีผู้เล่น 10 หรือ 20 คน และยังมีการมั่วสุมเรื่องอื่น ๆ ด้วย สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ได้ตักเตือนกันมาพอสมควรแล้ว ในการทำความผิดประเภทซ้ำซ้อน ซึ่งจะต้องดำเนินการอย่างเข้มงวด ด้านการตรวจสถานที่ประกอบการหลายแห่ง หลังจากที่ได้มีการผ่อนคลายมาตรการไปแล้ว พบว่าช่วงวันที่ 3-4 พ.ค. ยังมีผู้ไม่ปฏิบัติตามค่อนข้างมาก ไม่ว่าโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้แนะนำและตักเตือนไป และจากการออกตรวจตามจุดต่าง ๆ ร้านอาหาร ซูเปอร์มาร์เก็ต ตลาดต่าง ๆ เมื่อคืนนี้พบว่าตัวเลขลดลงไปมากพอสมควร
ทั้งนี้ การดำเนินการโดยกฎหมายพิเศษ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นตัวหลัก แต่ละจังหวัดมี พรบ.โรคติดต่อ ในกรุงเทพฯ ดำเนินการโดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ต่างจังหวัดดำเนินการโดยผู้ว่าราชการจังหวัด ออกข้อกำหนดตาม พรบ.โรคติดต่อในแต่ละจังหวัด ซึ่งหลักใหญ่ 3 หลัก คือการใส่หน้ากากอนามัย การล้างมือ การรักษาระยะห่าง ขณะที่การรวมกลุ่มนั้นเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค โดยปกติแล้วเจ้าหน้าที่สายตรวจ ตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง หรือแพทย์ ไปทำหน้าที่จะดูครอบคลุมกันหลายส่วน ส่วนแรก Home Quarantine ปกติเรียบร้อยดี ส่วนที่ 2 เรื่องของสถานประกอบการ หลายแห่งทำดี บางส่วนอาจจะยังไม่ดีเท่าที่ควร ต้องปรับปรุง ส่วนที่ 3 เรื่องของการกวดขัน จับกุมมั่วสุม ซึ่งจะเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคเป็นอย่างมาก ส่วนการเล่นการพนัน ตั้งวงสุรา นั่งใกล้กัน ถึงจะใส่หน้ากากอนามัยก็จริงแต่ไม่ได้ใส่ตลอดเวลา ต้องมีการพูดคุยต่าง ๆ จึงขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนด้วย เนื่องจากเจ้าหน้าที่ และบุคลากรทางการแพทย์ได้ทำหน้าที่อย่างดีแล้ว แต่ยังมีประชาชนบางส่วนบกพร่องอยู่