แพทย์ รพ.สวนดอก เตือน! อาการถอนสุรา หนึ่งในสัญญาณการติดสุรา อาจมีอันตรายถึงชีวิต

3940

แพทย์ รพ.สวนดอก เตือน! อาการถอนสุรา หนึ่งในสัญญาณการติดสุรา อาจมีอันตรายถึงชีวิต

“ในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาด COVID-19 พบว่ามีการใช้แอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการมีมาตรการในการงดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้นักดื่มที่มีการดื่มต่อเนื่อง เกิดอาการถอนสุราขึ้นได้และโดยธรรมชาติ เมื่อสามารถกลับมาหาซื้อได้ การดื่มจะมากขึ้นจากความกระหายการดื่ม (craving) ทำให้เกิดการควบคุมตนเองได้ยากขึ้น เช่น การระมัดระวังตนเองในการป้องกันเชื้อหย่อนลง เหตุทะเลาะวิวาท หรือกระทั่งมีความคิดทำร้ายตนเอง

อาการถอนสุรา เป็นหนึ่งในสัญญาณการ “ติด” สุรา และอาจมีอันตรายถึงชีวิตได้ อาการที่พบได้บ่อย คือ มือสั่น ใจสั่น คลื่นไส้อาเจียน เหงื่อออกมาก สับสน ไม่รู้เวลา สถานที่ บุคคล หรืออาจรุนแรงถึงขั้นมีอาการภาพหลอนหูแว่ว หวาดระแวง หรือ ชักได้

วิธีช่วยลดความเสี่ยง อาจใช้การลดดื่มที่ละน้อย ต่อเนื่องค่อยๆลดทีละ 1 สัปดาห์ ดื่มสลับกับเครื่องดื่มอย่างอื่น การกินอาหารก่อนดื่ม จิบช้าลง ลดปริมาณลงเรื่อยๆ จนหยุดดื่มได้ในที่สุด แต่หากลองใช้วิธีที่แนะนำ แล้วยังมีอาการถอนสุราอยู่ แนะนำให้พบแพทย์ทันที เพื่อให้แพทย์ประเมินภาวะร่วมอื่นๆ และรับการรักษาอาการถอนอย่างถูกวิธีครับ

และหากมีหนึ่งในสัญญาณเหล่านี้นอกจากอาการถอนสุรา ก็น่าสงสัยว่า อาจเข้าข่ายติดแอลกอฮอล์แล้ว
1) รู้สึกควบคุมตัวเองไม่ให้ดื่มได้ลำบาก กินปริมาณเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เสียเวลาไปมากในการไปหาซื้อ
2) ทำกิจกรรมต่างๆในชีวิตได้น้อยลง เช่น ทำงาน หน้าที่ในครอบครัว รักษาความสัมพันธ์ที่ดี
3) แม้จะรู้ว่าส่งผลเสียกับตัวเอง เกิดความเสี่ยงทางร่างกาย ก็ไม่สามารถคุมตัวเองไม่ให้ดื่มได้
4) กินปริมาณเท่าเดิม แต่ไม่เมา หรือ ผ่อนคลายเหมือนเดิม ต้องเพิ่มปริมาณการดื่ม
ซึ่งหากมีอาจต้องเข้ารับคำปรึกษาเพื่อหาสาเหตุและช่วยให้การงดเหล้าเป็นไปอย่างปลอดภัย และมีสุขภาพกายและจิตที่ดี พร้อมที่จะกลับมาทำงานหรือใช้ชีวิตตามปกติได้ครับ”

ข้อมูล : คณะแพทยศาสตร์ มช. โดย อ.นพ. อวิรุทธ์ อุ่นอารมณ์ อาจารย์ประจำภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช.

96351705 3021676651204004 4924241624759795712 o
96247093 3021676667870669 245233832213610496 o
96159617 3021676717870664 40016068562911232 o