ก้าวสำคัญของไทย เริ่มทดลองฉีดวัคซีน ‘โควิด-19’ เข็มแรกในลิง คาดหากสำเร็จเริ่มทดลองในคนได้ เดือน ต.ค. 63 นี้

1370

ก้าวสำคัญของไทย เริ่มทดลองฉีดวัคซีน ‘โควิด-19’ เข็มแรกในลิง คาดหากสำเร็จเริ่มทดลองในคนได้ เดือน ต.ค. 63 นี้

เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2563 ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) และคณะผู้บริหาร ได้เดินทางลงพื้นที่ ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ซึ่งได้เริ่มการทดลองฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 “ชนิด mRNA” ในลิง โดยใช้รหัสพันธุกรรมของเชื้อ ที่พัฒนาโดยศูนย์วัคซีนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และ วช. ผ่านการให้ทุนสนับสนุนจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมหรือ อว. ทั้งนี้ วัคซีนดังกล่าวประสบความสำเร็จในระดับดี หลังจากทดสอบในหนูทดลอง และวันนี้ในเวลา 7.39 น. ได้เริ่มการฉีดวัคซีนทดสอบเข็มแรกในลิง ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญก่อนการทดสอบวัคซีนในคน

โดย ดร.สุวิทย์ กล่าวว่า การวิจัยและการทดสอบวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 นี้ เป็นไปตามยุทธศาสตร์การผลิตวัคซีนที่ท่านนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ให้แนวนโยบายไว้ว่าประเทศไทยจะต้องมีวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 พร้อม ๆ กับนานาอารยประเทศ โดยเร่งวิจัยและพัฒนาวัคซีนในประเทศ รวมทั้งทำความร่วมมือกับต่างประเทศ และเตรียมพร้อมการผลิตหรือจัดหาวัคซีนให้เพียงพอต่อความต้องการ ในขณะนี้ ทั่วโลกกำลังมีการวิจัย พัฒนา และทดสอบวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ไม่น้อยกว่า 200 แบบ โดยยังไม่มีใครทราบว่าวัคซีนแบบไหนจะใช้ได้ผล เพราะแทบทุกแบบยังอยู่ในขั้นการทดลองกับสัตว์ทดลอง (มีเพียง 6-7 แบบที่เริ่มทดลองในคนแล้ว เช่นวัคซีนของจีน และอเมริกา) และกระบวนการทั้งหมดจะเสร็จสิ้นภายใน 6-12 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ กระบวนการผลิตวัคซีนทดสอบในคนของประเทศไทย หากมีผลที่ดีจากการทดสอบในลิง ก็คาดว่าจะเริ่มต้นได้ภายในเดือน ต.ค 63 นี้

ตัวอย่างของศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ และการทดลองวัคซีนในลิง เป็นรูปธรรมของการเตรียมความพร้อมของประเทศไทยในด้านโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการวิจัยและการทดลองในสัตว์ ซึ่งทำให้เราสามารถรับมือกับโรคอุบัติใหม่อุบัติซ้ำ และโรคระบาด อย่างในกรณีของโรคโควิด-19 นี้ได้ เป็นการแสดงถึงความเข้มแข็งด้านการวิจัย สาธารณสุข วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางการแพทย์ของไทยอย่างแท้จริงครับ

blank