9 ก.ค. นี้ สดร. ชวนแหงนหน้ามองฟ้าส่อง “ดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี”

3885

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เผย 9 กรกฎาคมนี้ “ดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี” ปรากฏบนท้องฟ้าตลอดคืนจนถึงรุ่งเช้า หากสภาพอากาศเป็นใจมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าทุกภูมิภาคทั่วประเทศ 

      นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สดร. เปิดเผยว่าในวันที่ 9 กรกฎาคม 2562 ดาวเสาร์จะโคจรมาอยู่ตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ (Saturn Opposition) คือ ดวงอาทิตย์ โลก และ ดาวเสาร์เรียงตัวอยู่ในแนวเส้นตรงเดียวกันตามลำดับ เป็นผลให้ดาวเสาร์อยู่ในตำแหน่งใกล้โลกที่สุดในรอบปี ห่างประมาณ 1,351 ล้านกิโลเมตร (9.03 AU) ตรงกับเวลาประมาณ 23:53 น. (ตามเวลาประเทศไทย) ในวันดังกล่าว ขณะดวงอาทิตย์ลับของฟ้า ดาวเสาร์จะปรากฎพ้นขอบฟ้าตรงข้ามกับพอดี หากฟ้าใสไร้ฝน จะสังเกตดาวเสาร์ได้ตลอดทั้งคืนจนถึงรุ่งเช้า

     นายศุภฤกษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในวันที่ 9 กรกฎาคม 2562 ดาวเสาร์จะปรากฏเหนือขอบฟ้าทางทิศตะวันออก ตั้งแต่เวลาประมาณ 19:00 น. (ตามเวลาประเทศไทย) บริเวณกลุ่มดาวคนยิงธนู (Sagittarius) สังเกตได้ด้วยตาเปล่าอย่างชัดเจนในทุกพื้นที่ของประเทศไทย มีค่าความสว่างปรากฏประมาณ 0.1 (ความสว่างปรากฏของวัตถุท้องฟ้าที่มนุษย์สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า มีค่าประมาณ 6 ส่วนค่าความสว่างปรากฏของดวงจันทร์เต็มดวงประมาณ -12.6) วงแหวนของดาวเสาร์มีความเอียงเป็นมุม 24.3 องศา เมื่อสังเกตด้วยกล้องสองตากำลังขยายตั้งแต่ 15 เท่าขึ้นไป หรือกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็กจะสามารถเห็นวงแหวนของ ดาวเสาร์ที่สวยงามได้ และดาวเสาร์จะตกลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตก เวลาประมาณ 06:00 น. ของเช้าวันที่ 10 กรกฎาคม 2562

      สดร. เตรียมจัดกิจกรรมสังเกตการณ์ตั้งกล้องโทรทรรศน์บริการประชาชนร่วมชม“ดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี” วันที่ 9 กรกฎาคม 2562 เวลา 18:00-22:00น. เชิญชวนผู้สนใจร่วมกิจกรรมได้ ณ จุดสังเกตการณ์หลัก 4 แห่ง ได้แก่
1)เชียงใหม่ : อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ (081-8854353)
2)นครราชสีมา: หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา (086-4291489)
3)ฉะเชิงเทรา: หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา (084-0882264)
4)สงขลา : หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา (095-1450411)

      นอกจากนี้ หน่วยงานเครือข่ายอีกกว่า 410 แห่งทั่วประเทศ ที่รับมอบกล้องโทรทรรศน์ในโครงการ“กระจายโอกาส 77 จังหวัด เปิดฟ้าส่องโลกดาราศาสตร์ เปิดโอกาสเรียนรู้ทั่วหล้า” ได้จัดกิจกรรมสังเกตปรากฏการณ์และนำกล้องโทรทรรศน์มาบริการประชาชนเช่นกัน ติดตามรายละเอียดและสถานที่จัดกิจกรรมเพิ่มเติมที่ www.NARIT.or.th