สดร. แนะวิธีชม “สุริยุปราคาบางส่วน” 21 มิถุนายน นี้ อย่างปลอดภัยไร้กังวล

463
สดร. แนะวิธีชม “สุริยุปราคาบางส่วน” 21 มิถุนายน นี้ อย่างปลอดภัยไร้กังวล

สดร. แนะวิธีชม “สุริยุปราคาบางส่วน” 21 มิถุนายน นี้ อย่างปลอดภัยไร้กังวล

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ชวนดู “สุริยุปราคาบางส่วน” วันที่ 21 มิถุนายน ที่จะถึงนี้ ตั้งแต่เวลา 13.00 – 16.10 น.ภาคเหนือเห็นดวงอาทิตย์เว้าแหว่งมากที่สุด ย้ำเตือนคนไทยไม่ควรมองดวงอาทิตย์ด้วยตาเปล่า  ต้องใช้อุปกรณ์กรองแสง และให้ระมัดระวังการถ่ายภาพดวงอาทิตย์จากเลนส์กล้องดิจิทัล  “ย้ำ” อันตรายถึงขั้นตาบอดได้ พร้อมชวนร่วมชมปรากฏการณ์นี้ผ่านเพจเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สดร. กล่าวถึงข้อควรระวังเกี่ยวกับการสังเกตปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วนในประเทศไทย วันอาทิตย์ที่ 21 มิถุนายน 2563 ตั้งแต่เวลา ประมาณ 13.00 – 16.10 น. ว่า การสังเกตปรากฏการณ์สุริยุปราคาเป็นการสังเกตดวงอาทิตย์โดยตรง  จึงต้องใช้ความระมัดระวังอย่างยิ่ง ห้ามสังเกตด้วยตาเปล่าเด็ดขาด การจ้องมองดวงอาทิตย์โดยไม่มีอุปกรณ์ป้องกัน อาจนำอันตรายมาสู่ดวงตาถึงขั้นทำให้ตาบอดได้ วิธีการสังเกตดวงอาทิตย์โดยทั่วไป แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ การสังเกตดวงอาทิตย์ทางตรงผ่านอุปกรณ์กรองแสง และการสังเกตดวงอาทิตย์ทางอ้อม

วิธีที่ 1 การสังเกตดวงอาทิตย์ทางตรง  เป็นวิธีการสังเกตดวงอาทิตย์ด้วยตาผ่านอุปกรณ์ต่างๆ  เช่นกล้องโทรทรรศน์สำหรับดูดวงอาทิตย์โดยเฉพาะ กล้องโทรทรรศน์ที่ติดแผ่นกรองแสงดวงอาทิตย์ แว่นดูดวงอาทิตย์ที่ทำจากแผ่นกรองแสงแบล็คพอลิเมอร์หรือแผ่นกรองแสงไมลาร์ หรืออุปกรณ์ง่ายๆ เช่น กระจกแผ่นกรองแสงสำหรับหน้ากากเชื่อมโลหะ เบอร์ 14 หรือมากกว่า

ไม่ควรใช้ ฟิล์มเอกซเรย์ ฟิล์มถ่ายรูปใช้แล้ว แผ่นซีดี แว่นกันแดด กระจกรมควัน แผ่นฟิล์มกรองแสง สีดำที่ใช้ติดกระจกรถยนต์แม้จะมีสีดำสนิทก็ตาม แต่ก็ยังไม่ปลอดภัยต่อสายตา เพราะอุปกรณ์ดังกล่าว มีประสิทธิภาพในการกรองแสงไม่เพียงพอ แม้จะกรองความเข้มแสงออกไปได้ แต่ไม่สามารถกรองแสงบางช่วงคลื่นที่เป็นอันตรายต่อสายตาออกไปได้

01
02
03a 04a

การสังเกตดวงอาทิตย์ทางตรงจึงต้องใช้อุปกรณ์กรองแสงที่มีคุณภาพสำหรับกรองแสงอาทิตย์โดยเฉพาะ และไม่ควรจ้องดวงอาทิตย์นานเกิน 5 วินาทีต่อครั้ง ควรหยุดพักเป็นระยะๆ เพื่อให้เกิดความปลอดภัย

วิธีที่ 2 การสังเกตดวงอาทิตย์ทางอ้อม เป็นการดูแสงของดวงอาทิตย์ผ่านฉากรับภาพหรือใช้หลักการของกล้องรูเข็ม  การสังเกตดวงอาทิตย์ทางอ้อมเป็นวิธีที่มีความปลอดภัยไม่เกิดอันตรายต่อดวงตาและช่วยให้สามารถดูปรากฏการณ์ดังกล่าวได้ทีละหลายคน ได้แก่ ใช้กล้องโทรทรรศน์รับแสงจากดวงอาทิตย์แล้ว ตั้งฉากรับภาพที่ออกมาจากเลนส์ใกล้ตา การฉายภาพดวงอาทิตย์จากโซลาร์สโคป  หรือประดิษฐ์กล้องรูเข็มอย่างง่าย ใช้หลักการรวมแสงให้ไปฉายบนฉากรับภาพ โดยเจาะรูเล็กๆ บนวัสดุที่ต้องการ นำไปตั้งไว้กลางแจ้ง แสงแดดจะลอดผ่านรูดังกล่าวตกลงบนฉาก ซึ่งอาจเป็นกระดาษ พื้นโต๊ะ หรือพื้นดิน ขนาดของรูที่เจาะไม่มีผลต่อภาพบนฉาก แต่จะมีผลต่อความคมชัดและความสว่างของภาพ นอกจากนี้ยังสามารถสังเกตจากแสงอาทิตย์ที่ลอดผ่านต้นไม้ตกบนพื้นหรือกำแพง จะมองเห็นเป็นเงาเสี้ยวของดวงอาทิตย์ได้อีกด้วย

3
4
05
06
07
2 นายศุภฤกษ์ กล่าวย้ำให้ประชาชนระมัดระวังการบันทึกภาพดวงอาทิตย์ด้วยกล้องดิจิตัล โดยเฉพาะกล้องถ่ายภาพ DSLR ที่ติดเลนส์กำลังขยายสูง ห้ามถ่ายภาพดวงอาทิตย์ โดยปราศจากแผ่นกรองแสง และห้ามใช้ตาเล็งดวงอาทิตย์จากช่องมองภาพโดยตรงเด็ดขาด เนื่องจากเลนส์ของกล้องเหล่านี้มีคุณสมบัติ ในการรวมแสงและความร้อน ภาพของดวงอาทิตย์ที่ได้จากอุปกรณ์ดังกล่าวจะมีความสว่างจ้ามาก อาจทำให้ตาบอดได้ทันทีและอาจเกิดความเสียหายต่อตัวอุปกรณ์ดังกล่าวได้เช่นกัน

สำหรับประชาชนที่สนใจ ในปีนี้เนื่องด้วยสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 สดร. จึงปรับเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรมจากการตั้งจุดสังเกตการณ์หลักเพื่อให้บริการประชาชน มาเป็นการถ่ายทอดสดปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วนจากหอดูดาวภูมิภาคทั้ง 4 แห่ง ของ สดร. ได้แก่ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ. แม่ริม จ. เชียงใหม่ และหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา และสงขลา ในวันที่ 21 มิถุนายน 2563 ตั้งแต่เวลา 13:00 – 16:10 น. สามารถติดตามได้ทางเพจเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ www.facebook.com/NARITpage

สุริยุปราคาที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 21 มิถุนายน นี้ เป็นปรากฏการณ์ “สุริยุปราคาวงแหวน” แนวคราส วงแหวนพาดผ่านฝั่งตะวันออกของทวีปแอฟริกา คาบสมุทรอาหรับ เอเชียใต้ เอเชียตะวันออก และมหาสมุทรแปซิฟิก เกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาวงแหวนนาน 38 วินาที สำหรับประเทศไทยจะเห็นเป็น “สุริยุปราคาบางส่วน” ดวงจันทร์จะบดบังดวงอาทิตย์บางส่วน ทำให้มองเห็นดวงอาทิตย์เว้าแหว่ง สามารถสังเกตได้ทุกภูมิภาคของไทย แต่ละภูมิภาคจะมองเห็นดวงอาทิตย์เว้าแหว่งมากน้อยแตกต่างกัน ดวงอาทิตย์จะถูกบดบังมากที่สุดบริเวณภาคเหนือที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ประมาณร้อยละ 63 ส่วนภาคใต้ที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ดวงอาทิตย์จะถูกบดบังน้อยที่สุดเพียงร้อยละ 16 สำหรับกรุงเทพมหานคร ดวงอาทิตย์จะถูกบดบังประมาณร้อยละ 40 สามารถสังเกตได้ในช่วงเวลาประมาณ 13:00 – 16:10 น. ตามเวลาประเทศไทย ดวงอาทิตย์จะปรากฏเว้าแหว่งมากที่สุด เวลาประมาณ 14:49 น. รายละเอียดข้อมูลปรากฏการณ์เพิ่มเติมที่ www.narit.or.th หรือ www.facebook.com/NARITpage

03

04 Facebook Live 01

งานประชาสัมพันธ์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

โทร. 053-121268-9 ต่อ 210-211 , 081-8854353 โทรสาร 053-121250

E-mail: pr@narit.or.th   Website : www.narit.or.th

Facebook : www.facebook.com/NARITpage

Twitter : @NARIT_Thailand,  Instagram : @narit_thailand

Call Center กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โทร. 1313