ปภ.เชียงใหม่ เตรียมพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยในช่วงฤดูฝน เผยเชียงใหม่มีพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยทั้งหมด 15 อำเภอ

726

สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จังหวัดเชียงใหม่ เตรียมพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยในช่วงฤดูฝน เน้นย้ำทุกพื้นที่เสี่ยงจัดเตรียมเจ้าหน้าที่และเครื่องมือให้พร้อมใช้งานตลอดเวลา

นายอรรถพล จันทร์เพ็ญ หัวหน้าฝ่ายป้องกันและปฏิบัติการ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยถึงการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยในช่วงฤดูฝนของจังหวัดเชียงใหม่ว่า ภายหลังที่กรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดหมายลักษณะอากาศช่วงฤดูฝนของประเทศไทย ปี 2563 ว่าฤดูฝนของประเทศไทยปีนี้ จะสิ้นสุดประมาณกลางเดือนตุลาคม โดยในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายนจะเป็นเดือนที่มีฝนตกชุกหนาแน่น ซึ่งจะส่งผลให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ และอาจก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก รวมทั้งน้ำล้นตลิ่งได้ในบางแห่ง

58zPzS.jpg กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ จึงได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม ปี 2563 และแต่งตั้งคณะทำงานติดตามสถานการณ์อุทกภัย และดินถล่ม ปี 2563 เมื่อวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยมี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นหัวหน้าคณะทำงาน เพื่ออำนวยการ จัดทำแผน กำหนดแนวทาง เฝ้าระวัง ประเมินสถานการณ์ พร้อมทั้งประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ภาคเอกชน และจังหวัดข้างเคียง เพื่อช่วยเหลือในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยให้เป็นไปด้วยความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ซึ่งจากการสำรวจพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยจังหวัดเชียงใหม่ พบว่ามีทั้งหมด 15 อำเภอ 47 ตำบล 317 หมู่บ้าน (ข้อมูล ณ วันที่ 10 ก.ค. 63) โดยอำเภอที่มีพื้นที่เสี่ยงมากที่สุด คือ อำเภอแม่แจ่ม จำนวน 104 หมู่บ้าน รองลงมา คือ อำเภออมก๋อย จำนวน 96 หมู่บ้าน อำเภอหางดง จำนวน 23 หมู่บ้าน และอำเภอจอมทอง 21 หมู่บ้าน จึงได้แจ้งให้ทุกอำเภอจัดเตรียมเจ้าหน้าที่ เครื่องมือ เครื่องจักรกล อุปกรณ์แจ้งเตือนภัย และเครื่องวัดปริมาณน้ำฝน ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานตลอดเวลา

ในส่วนของพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญในเขตเมืองเชียงใหม่ที่มีปัญหาน้ำท่วมขัง และแม่น้ำปิงเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมเขตชุมชนนั้น จะใช้ one map ที่เป็นการบูรณาการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเตรียมป้องกันปัญหาน้ำท่วม โดยใช้แนวทางปฏิบัติงานเดียวกันทั้งหมด ขณะเดียวกัน ได้มีการพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยให้เพิ่มประสิทธิภาพการแจ้งเตือนสู่ประชาชนในทุกช่องทาง อาทิ สื่อออนไลน์ วิทยุชุมชน หอกระจายข่าวประจำหมู่บ้าน เครือข่ายอาสาสมัคร มิสเตอร์เตือนภัย กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน เพื่อให้สามารถแจ้งเตือนประชาชนได้อย่างรวดเร็วและทันต่อสถานการณ์

นอกจากนี้ ศูนย์อำนวยการจิตอาสาพระราชทานจังหวัดเชียงใหม่ ยังได้จัดตั้งชุดปฏิบัติการจิตอาสาภัยพิบัติประจำองค์การบริหารส่วนตำบล และเทศบาล แห่งละ 50 คน เพื่อเสริมสร้างศักยภาพและความเข้มแข็ง ให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือเจ้าพนักงานในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเป้าหมายของจังหวัดเชียงใหม่ มีทั้งหมด 205 แห่ง โดยคาดว่าจะดำเนินการฝึกอบรมครบทั้งหมดภายในต้นเดือนสิงหาคมนี้