แพทย์ มช. พัฒนาการผ่าตัดปลูกถ่ายตับจากผู้บริจาคตับมีชีวิต โดยวิธีการผ่าตัดผ่านกล้อง สำเร็จเป็นครั้งแรกในประเทศไทย
ปัจจุบันการแพทย์ของประเทศไทยมีพัฒนาการก้าวไกลเทียบเท่านานาอารยประเทศ โดยเฉพาะการให้การรักษาผู้ป่วยโรคตับ การปลูกถ่ายตับถือว่าเป็นทางเลือกสุดท้ายของการรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะตับวาย ซึ่งการผ่าตัดปลูกถ่ายตับสามารถรักษาทั้งภาวะตับแข็งและมะเร็งตับไปในการผ่าตัดครั้งเดียวกัน ทำให้ผู้ป่วยมะเร็งตับที่ได้รับการปลูกถ่ายตับมีอัตราการรอดชีวิตสูงถึงร้อยละ 80-90 และมีอัตราการกลับเป็นซ้ำต่ำเมื่อเทียบกับการรักษาวิธีอื่น ช่วยให้ผู้ป่วยกลับมามีชีวิตยืนยาว ใช้ชีวิตร่วมกับครอบครัวได้อีกครั้ง
ศ.นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ กล่าวว่า “มะเร็งตับเป็นมะเร็งที่พบบ่อย และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตลำดับต้น ๆ ของประเทศไทย การรักษามะเร็งตับที่ดีที่สุดในปัจจุบันคือการผ่าตัดมะเร็งตับออก แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยมะเร็งตับมักพบว่ามีภาวะตับแข็งร่วมด้วย ซึ่งสัมพันธ์กับการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ และการดื่มสุรา เป็นเหตุให้ผู้ป่วยมะเร็งตับส่วนใหญ่ไม่สามารถรับการรักษาโดยการผ่าตัดได้
ขณะนี้การปลูกถ่ายตับสำหรับผู้ใหญ่มีด้วยกัน 2 วิธี ได้แก่ 1. การปลูกถ่ายตับจากผู้ป่วยที่มีภาวะสมองตาย เป็นการผ่าตัดปลูกถ่ายตับจากผู้บริจาคที่สมองตายแล้ว ในปัจจุบันการปลูกถ่ายตับในประเทศไทยส่วนใหญ่ เป็นการปลูกถ่ายวิธีนี้ ข้อดีของการผ่าตัดวิธีนี้คือ ไม่ต้องเสี่ยงทำการผ่าตัดในผู้บริจาคที่มีชีวิต แต่ข้อเสียสำคัญของวิธีนี้คือ การรออวัยวะที่นานหลายเดือน หรือหลายปี เนื่องจากในประเทศไทย โดยเฉพาะภาคเหนือตอนบนมีผู้บริจาคอวัยวะจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับผู้ป่วยที่รออวัยวะ ทำให้บางครั้งไม่สามารถรักษาผู้ป่วยได้ทัน 2. การปลูกถ่ายตับจากผู้บริจาคที่มีชีวิต เป็นการผ่าตัดตับกลีบขวาของผู้บริจาคที่เป็นญาติสายตรง สามีหรือภรรยาของผู้ป่วย โดยการผ่าตัดลักษณะนี้เป็นการผ่าตัดที่มีความซับซ้อนสูง เนื่องจากต้องผ่าตัดตับโดยแยกหลอดเลือดและท่อน้ำดีออกมาโดยไม่ให้เกิดอันตรายต่อหลอดเลือดและท่อน้ำดีของผู้บริจาค แต่ข้อดีของการผ่าตัดวิธีนี้คือ สามารถลดระยะเวลาการรออวัยวะให้สั้นลงเหลือประมาณ 3-4 สัปดาห์ อีกทั้งตับยังอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์กว่า และมีระยะเวลาที่ขาดเลือดสั้นกว่าการปลูกถ่ายตับจากผู้ป่วยสมองตาย ซึ่งปัจจุบัน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นเพียงสถาบันเดียวที่ทำการผ่าตัดปลูกถ่ายตับจากผู้บริจาคมีชีวิตเพื่อรักษาโรคมะเร็งตับในผู้ใหญ่อย่างต่อเนื่อง และมีจำนวนผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดวิธีดังกล่าวมากที่สุดในประเทศไทย จำนวน 28 ราย
จากที่กล่าวมาในข้างต้น การผ่าตัดสำหรับผู้บริจาคตับเป็นการผ่าตัดที่ซับซ้อน ซึ่งส่งผลต่อทั้งความปลอดภัยของผู้บริจาคและความสำเร็จในการปลูกถ่ายตับในผู้ป่วย ทำให้ในระยะเริ่มต้นได้ทำการผ่าตัดในลักษณะเปิด โดยลักษณะแผลเป็นรูปตัว J ทำให้ผู้บริจาคต้องใช้เวลาในการพักรักษาตัวในโรงพยาบาลประมาณ 7-10 วัน รวมถึงใช้ระยะเวลานานในการกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ” อาจารย์ นายแพทย์วรกิตติ ลาภพิเศษพันธุ์ อาจารย์ประจำหน่วยศัลยศาสตร์ ระบบตับทางเดินน้ำดีและตับอ่อน กล่าวว่า “ในปัจจุบัน มีเทคโนโลยีการผ่าตัดแบบรุกล้ำน้อย ซึ่งเป็นผ่าตัดผ่านการส่องกล้องที่มีการพัฒนาก้าวหน้าเป็นอย่างมาก จึงเริ่มมีการใช้การผ่าตัดผ่านการส่องกล้องในการตัดตับของผู้บริจาค เนื่องจากผู้บริจาคส่วนใหญ่มีอายุน้อย ยังอยู่ในวัยที่ต้องทำงาน การผ่าตัดผ่านการส่องกล้องมีข้อดีคือ ลดการปวดแผล ผู้บริจาคไม่มีแผลผ่าตัดขนาดใหญ่ที่ช่องท้อง รวมทั้งระยะเวลาในการนอนโรงพยาบาลสั้นกว่าการผ่าตัดเปิด (เฉลี่ย 5 วันเมื่อเทียบกับ 7-10 วันสำหรับผ่าตัดเปิด) ฟื้นตัวได้เร็วกว่า สามารถกลับไปทำงานและใช้ชีวิตตามปกติได้เร็วกว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดคือความปลอดภัยต่อผู้บริจาค และผู้ป่วยเทียบเท่ากับการผ่าตัดแบบเปิด อย่างไรก็ตามการผ่าตัดผ่านการส่องกล้องยังมีข้อจำกัดบางประการเช่น ผู้บริจาคที่มีความแปรปรวนของกายวิภาค กล่าวคือ มีโครงสร้างและหลอดเลือดของตับที่ผิดปกติไปจากเดิม โดยคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ทำการผ่าตัดตับผู้บริจาคผ่านการส่องกล้อง และนำไปปลูกถ่ายแก่ผู้ป่วยมะเร็งตับ สำเร็จเป็นครั้งแรกของประเทศไทย เมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2563
การผ่าตัดผ่านการส่องกล้องเป็นการผ่าตัดที่ซับซ้อน จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือ ร่วมแรง เสียสละจากหลายฝ่ายตั้งแต่ ผู้บริจาคอวัยวะ ผู้ป่วยและครอบครัว ทีมศัลยแพทย์ปลูกถ่ายตับ โดยมี ผศ.นพ.อานนท์ โชติรสนิรมิต หัวหน้าหน่วยศัลยศาสตร์ระบบตับทางเดินน้ำดี และตับอ่อน, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ สัณหวิชญ์ จันทร์รังสี อาจารย์ประจำหน่วยศัลยศาสตร์ระบบตับทางเดินน้ำดี และตับอ่อน ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช. ทีมพยาบาลด้านการปลูกถ่ายตับ ซึ่งเป็นทีมหลัก รวมถึงทีมบุคลากรทางการแพทย์ สาขาวิชาชีพที่มีความชำนาญโดยเฉพาะ เช่น วิสัญญีแพทย์ปลูกถ่ายตับ อายุรแพทย์โรคตับ อายุรแพทย์โรคไต กุมารแพทย์โรคตับ รังสีแพทย์ นักกายภาพบำบัด นักโภชนาการ ร่วมให้การรักษา มีการใช้องค์ความรู้ และเทคโนโลยีมากมายในการดูแล ตั้งแต่ก่อนผ่าตัด ขณะผ่าตัด และหลังผ่าตัด”