อย. แจง “ซูชิเรืองแสง” อาจเกิดจากการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ แนะไม่ควรรับประทาน

218

อย. ชี้แจง “ซูชิเรืองแสง” อาจเกิดจากการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ เบื้องต้นได้ตรวจสอบสถานที่จำหน่าย และเก็บตัวอย่างวัตถุดิบซูชิดังกล่าวส่งตรวจวิเคราะห์แล้ว แนะผู้บริโภคไม่ควรรับประทานอาหารดิบ เพราะอาจเสี่ยงต่อการได้รับจุลินทรีย์ก่อโรค

นพ.พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ตามที่มีผู้ใช้เฟซบุ๊กโพสต์ภาพซูชิที่มีแสงสีฟ้าสะท้อนออกมาจากตัวกุ้ง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอชี้แจงว่า การเรืองแสงของกุ้งและอาหารทะเลเกิดได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่ การเจริญของเชื้อแบคทีเรียซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่ติดมากับอาหารทะเลและสามารถผลิตสารเรืองแสงได้ โดยเชื้อจุลินทรีย์เหล่านี้จะถูกทำลายได้ด้วยความร้อน ถ้าอาหารทะเลถูกทำให้สุกก็จะสามารถทำลายจุลินทรีย์เหล่านี้ได้ แต่ถ้ายังดิบอยู่หรือไม่ได้ฆ่าเชื้อให้หมด ประกอบกับการเก็บรักษาที่อุณหภูมิไม่เหมาะสม อาจจะส่งผลให้แบคทีเรียเพิ่มจํานวนขึ้นอย่างรวดเร็วจนเรืองแสงได้ ทั้งนี้ อย. ได้กำหนดให้สถานประกอบการผลิตต้องผ่านการตรวจประเมินตามหลักเกณฑ์ (Good Manufacturing Practice, GMP) เพื่อควบคุม กำกับ ดูแล และเฝ้าระวังความปลอดภัย ซึ่งขณะนี้ อย. ได้ตรวจสอบสถานที่จำหน่าย และเก็บตัวอย่างวัตถุดิบรวมถึงผลิตภัณฑ์ซูชิดังกล่าวส่งตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฎิบัติการแล้ว ซึ่งหากพบการกระทำฝ่าฝืนพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 จะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

รองเลขาธิการฯ กล่าวในตอนท้ายว่า ขอแนะนำผู้บริโภคควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารจากสถานที่จำหน่ายที่มีการเตรียมอาหารอย่างถูกสุขลักษณะ มีการควบคุมอุณหภูมิระหว่างการเก็บรักษาไม่เกิน  4 องศาเซลเซียส และควรรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ไม่ควรรับประทานอาหารดิบ เพราะเสี่ยงต่อการได้รับจุลินทรีย์ก่อโรค ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสียรุนแรง ลำไส้อักเสบ ขณะที่ผลิตภัณฑ์อาหารในภาชนะบรรจุต้องแสดงฉลาก เช่น ชื่ออาหาร ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต น้ำหนักสุทธิ วันเดือนปีที่ควรบริโภคก่อน ข้อมูลการใช้วัตถุเจือปนอาหาร และข้อมูลเกี่ยวกับการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์บนฉลาก