ม.แม่โจ้ จับมือ 3 บริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยีและระบบเครือข่าย ร่วมพัฒนา Smart Farming ทำเกษตรสมัยใหม่ สร้างภาคการเกษตรให้เติบโตอย่างยั่งยืน
เมื่อวันจันทร์ที่ 14 กันยายน 2563 ศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมเกษตรสมัยใหม่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ (Modern Agriculture Innovation Center – Maejo university) ทำพิธีลงนามความร่วมมือทางวิชาการ กับ 3 บริษัทชั้นนำ ด้านเทคโนโลยีและระบบเครือข่าย ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จํากัด, บริษัท เอเอ็มอาร์ เอเซีย จำกัด และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพล ทองมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้, ดรสุระชัย อนุตระกูลชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักงานขายและบริการลูกค้าภาคเหนือ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน), นายวิวัฒน์ นิติสุนทรางกูร รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เอเอ็มอาร์ เอเซียจำกัด และ นายพรรัตน์ เจนจรัสสกุล หัวหน้าส่วนงานปฏิบัติการภูมิภาค-ภาคเหนือ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด เป็นผู้แทนลงนามของแต่ละฝ่าย ทั้งนี้ มีคณะผู้บริหารของแต่ละหน่วยงานร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุมสภามหาวิทยาลัย ชั้น 5 อาคารสำนักงานมหาวิทยาลัย
การลงนามความร่วมมือกับทั้ง 3 บริษัท ชั้นนำในครั้งนี้ เพื่อร่วมกันพัฒนานวัตกรรมและองค์ความรู้ใหม่ให้ภาคการเกษตรและสังคมดิจิตอลหรือที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทางศูนย์ความเป็นเลิศฯ ให้ความร่วมมือด้านข้อมูลทางวิชาการระบบการเพาะปลูกพืช เลี้ยงสัตว์รวมถึงระบบ Smart Farming ส่วนทางบริษัทได้ให้ความร่วมมือดังนี้
– บริษัท เอเอ็มอาร์ เอเซีย จำกัด จะร่วมพัฒนาอุปกรณ์เทคโนโลยี IoT Sensor (Internet of Thing) ที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร ระบบควบคุมอัตโนมัติการเกษตร
– บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ร่วมพัฒนา Solution board Smart kids เพื่อหลักสูตรในโรงเรียนระดับประถมจนถึงระดับมัธยม และตั้งศูนย์เรียนรู้ ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้าน Coding ให้กับสถานศึกษาและชุมชน รวมถึงการส่งเสริมการพัฒนาการใช้โดรนทางการเกษตร
– บริษัท แอดวานซ์ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จํากัด ร่วมสนับสนุนเครือข่ายการส่งสัญญาณของ Sensor ภาคการเกษตร ระบบ Cloud Server และ Cloud Computing ด้วย การนำเครือข่าย AIS 4G,5G พร้อมด้วยเทคโนโลยี NB-IoT ไปเชื่อมต่อระบบ Smart Farming และพร้อมจะกระจาย Solution ทางการเกษตรให้แพร่หลายในวงกว้างต่อไป
ซึ่งล้วนแต่เป็นความร่วมมือที่จะช่วยในการพัฒนา Smart Farming ร่วมพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน อีกทั้งร่วมการวิจัยด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ตลอดจนความร่วมมือในการสนับสนุนเครือข่ายกำลังคนร่วมทำกิจกรรมเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม สร้างประโยชน์ให้เกิดกับสังคมและในการเรียนการสอนของนักศึกษาสามารถสร้างเป็นรูปแบบธุรกิจเชิงพาณิชย์ต่อไปในอนาคต และยังเป็นการดำเนินงานที่สามารถตอบสนองนโยบาย Thailand 4.0 สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ส่งเสริมการพัฒนาการเกษตรให้เกิดประสิทธิภาพในทุกกระบวนการ ส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การใช้ทรัพยากรทางวิทยาการร่วมกัน ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้เกษตรกรไทยมีขีดความสามารถที่ดีขึ้นช่วยให้ภาคการเกษตรไทยสามารถพัฒนาและเติมโตได้อย่างยั่งยืน