กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แนะผู้ปกครองและสถานศึกษา ในช่วงหน้าฝนนี้ระมัดระวังบุตรหลานป่วยด้วยโรคมือ เท้า ปาก เน้นสังเกตอาการ หากมีไข้สูง ซึม อ่อนแรง ชักเกร็ง มือสั่น เดินเซ หายใจหอบเหนื่อย อาเจียน ให้รีบพบแพทย์ทันที และหมั่นทำความสะอาดของเล่นของใช้ ถ้าเด็กป่วยให้หยุดรักษาตัวอยู่บ้านจนกว่าจะหาย
เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2563 นายแพทย์อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีและโฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงนี้เป็นช่วงฤดูฝนและสถานศึกษาอยู่ในระหว่างเปิดการเรียนการสอน หลายพื้นที่ของประเทศมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง อากาศเย็นลงและมีความชื้น ซึ่งเอื้อต่อการเจริญเติบโตของเชื้อโรคต่างๆ โดยเฉพาะโรคมือ เท้า ปาก ที่มักพบบ่อยในช่วงนี้ สถานการณ์ โรคมือ เท้า ปาก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 21 กันยายน 2563 พบผู้ป่วย 9,442 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต ช่วงอายุที่พบมากที่สุดคือเด็กแรกเกิด-4 ปี (ร้อยละ 84.37) รองลงมาคืออายุ 7-9 ปี (ร้อยละ 4.29) และอายุ 5 ปี (ร้อยละ 4.25) ตามลำดับ ส่วนจังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อแสนประชากรสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ นราธิวาส ยะลา น่าน เชียงราย และแม่ฮ่องสอน
โรคมือ เท้า ปาก เป็นโรคที่พบมากในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งมีภูมิคุ้มกันต่ำ และสามารถติดต่อจากการได้รับเชื้อไวรัสเข้าทางปากโดยตรง โดยเชื้อไวรัสจะติดมากับมือหรือของเล่นที่เปื้อนน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากแผลตุ่มพองหรืออุจจาระของผู้ป่วย หรือติดต่อจากการไอ จาม รดกัน หากผู้ป่วยได้รับเชื้อจะมีอาการเล็กน้อย เช่น มีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย ต่อมา 1-2 วัน มีอาการเจ็บปากร่วมกับมีตุ่มพองเล็กๆ บริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า ตุ่มแผลในปาก เพดานอ่อน กระพุ้งแก้ม ลิ้น หากอาการไม่ดีขึ้นหรือมีไข้ขึ้นสูง ซึม เดินเซ ชักเกร็ง หายใจหอบเหนื่อย อาเจียนมาก ต้องรีบไปพบแพทย์ทันทีเพราะอาจติดเชื้อโรคมือ เท้า ปาก ชนิดรุนแรงอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ ขอเน้นย้ำผู้ปกครองและครู ช่วยกันดูแลและสังเกตอาการของเด็กอย่างใกล้ชิดและสม่ำเสมอ หากพบว่ามีอาการข้างต้น ให้พิจารณาหยุดเรียนและรักษาจนกว่าจะหาย และควรแจ้งให้ทางสถานศึกษาทราบ เพื่อทำการค้นหาเด็กที่อาจป่วยเพิ่มเติม
นายแพทย์อัษฎางค์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับวิธีป้องกันโรคมือ เท้า ปาก มีดังนี้ 1.ให้ผู้ปกครองสังเกตอาการของเด็กก่อนมาสถานศึกษา ส่วนสถานศึกษาขอให้คัดกรองเด็กก่อนเข้าเรียนทุกวัน หากพบเด็กไม่สบายหรือมีไข้ ควรพาไปพบแพทย์และให้พักอยู่ที่บ้าน 2.ให้เด็กสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย ซึ่งเชื้อโรคมือ เท้า ปาก จะอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากแผลตุ่มพองหรืออุจจาระของผู้ป่วย หรือเมื่อผู้ป่วยไปจับของเล่น ของใช้จะทำให้เชื้อกระจายสู่ผู้อื่นได้ หากลดการสัมผัสจะสามารถป้องกันการรับเชื้อได้ 3.หมั่นทำความสะอาดพื้นที่ที่เด็กใช้ร่วมกัน ของใช้ ของเล่นเด็กเป็นประจำเพื่อลดเชื้อโรคที่อยู่ในสิ่งแวดล้อม 4.หมั่นให้เด็กล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจล ทั้งก่อนและหลังรับประทานอาหารหรือเข้าห้องน้ำและหลังเล่นของเล่น เพื่อลดเชื้อสะสมบนมือและลดการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น 5.จัดให้มีพื้นที่ในการเข้าแถวทำกิจกรรม หรือเล่นกลุ่มย่อย โดยมีการเว้นระยะห่างระหว่างกันอย่างน้อย 1-2 เมตร และ 6.หากพบเด็กป่วยขอให้แยกออกจากเด็กปกติและแจ้งให้ผู้ปกครองรับกลับบ้าน ควรให้หยุดเรียนและพาไปพบแพทย์โดยเร็ว ซึ่งวิธีดังกล่าว สามารถป้องกันได้ทั้งโรคมือ เท้า ปาก โรคโควิด 19 และโรคติดต่อทางเดินหายใจอื่นๆ ได้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422