กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะประชาชนเตรียมรับมือฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 สนับสนุนใช้แนวทาง 6 มาตรการสำคัญในการป้องกัน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพทั้งแบบเฉียบพลันและระยะยาว

122

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะประชาชนเตรียมรับมือฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 สนับสนุนใช้แนวทาง 6 มาตรการสำคัญในการป้องกัน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพทั้งแบบเฉียบพลันและระยะยาว

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เป็นปัญหาสาธารณสุขที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (ดร.สาธิต  ปิตุเตชะ) มีความห่วงใยต่อประชาชนในทุกพื้นที่ เนื่องจากในช่วงเดือนพฤศจิกายน – เมษายนของทุกปี ปริมาณฝนมีแนวโน้มลดลงในทุกภาคของประเทศไทย เป็นปัจจัยที่ทำให้การสะสมของฝุ่นเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลนั้น จัดเป็นพื้นที่มีความเสี่ยงสูงในการสะสมตัวของฝุ่น PM2.5 ในช่วงธันวาคม

จากข้อมูลกรมควบคุมมลพิษ พบว่า สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการจราจรถึงร้อยละ 72.5 ในส่วนของพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตก มีสาเหตุหลักมาจากการเผาที่การเกษตร ความแห้งแล้ง และไฟป่า โดยผลกระทบปัญหาฝุ่นละออง  ขนาดเล็ก PM2.5 ระยะเฉียบพลัน เช่น อาการระคายเคืองตา แสบคอ แสบจมูก เลือดกำเดาไหล และระยะยาวคือ หอบหืด มะเร็งปอด โรคหลอดเลือดและหัวใจ เป็นต้น โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ และผู้มีโรคประจำตัว ที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ

นายแพทย์สุวรรณชัย  กล่าวต่อไปว่า องค์กรอนามัยโลกระบุว่า ทุก ๆ 10 ไมโครกรัมของฝุ่นละออง จะเพิ่มอัตราการเสียชีวิตรวม ร้อยละ 0.6 กรณีการเสียชีวิตด้วยโรคระบบทางหายใจจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 ดังนั้น เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนกระทรวงสาธารณสุขจึงได้ดำเนินการภายใต้ 6 มาตรการสำคัญ ได้แก่

1) เฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัย ผ่านศูนย์อำนวยการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข

2) เฝ้าระวังการเจ็บป่วย  ได้แก่ โรคระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบผิวหนัง ระบบตา และอื่น ๆ รวมทั้งผลกระทบในระยะยาวเช่น โรคมะเร็ง รวมถึงเฝ้าระวังและตอบโต้ข่าวที่เป็นเท็จ

3) สื่อสารสร้างความรอบรู้แก่ประชาชนผ่านช่องทางต่าง ๆ ในทุกระดับ พัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่สาธารณสุข แกนนำชุมชน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) รวมถึงผู้ดูแลผู้สูงอายุและผู้ดูแลเด็กเล็กในระดับพื้นที่ พร้อมลงพื้นที่ให้ความรู้แก่ประชาชนในการดูแลสุขภาพและการป้องกันตนเอง

4) ดูแลสุขภาพและจัดระบบบริการสาธารณสุข เปิดคลินิกมลพิษในพื้นที่เสี่ยงครอบคลุมทั้ง 13 เขตสุขภาพ รวมทั้งจัดทำห้องปลอดฝุ่นในโรงพยาบาล ศูนย์เด็กเล็ก ศูนย์ดูแลผุ้สูงอายุ และสถานที่อื่น ๆ ในพื้นที่ประสบปัญหา

5) มาตรการกฎหมายโดยเฉพาะมาตรการห้ามเผาในที่โล่ง โดยประสานผ่านกลไกคณะกรรมการสาธารณสุขจังหวัด ขอความร่วมมือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่เสี่ยงควบคุมแหล่งกำเนิดฝุ่นละอองในพื้นที่ภายใต้พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และ

6) องค์กรต้นแบบลดฝุ่น โดยสร้างพื้นที่สีเขียว ลดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่นละออง เช่น บำรุงรักษาเครื่องยนต์ตามมาตรฐาน ไม่ติดเครื่องยนต์ขณะจอดรถ ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว เป็นต้น และจัดเตรียมห้องปลอดฝุ่นในห้องประชุมของหน่วยงาน ทั้งนี้ ได้ดำเนินงานเชื่อมโยงหน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุขทั้งส่วนกลางและภูมิภาค พร้อมทั้งบูรณาการเครือข่ายในพื้นที่ให้เกิดการทำงานแบบบูรณาการทุกภาคส่วน” รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด

ที่มา: สสส. (กรมอนามัย)