กระทรวงสาธารณสุขย้ำ ผู้สูงอายุกลุ่มเปราะบาง หากติดเชื้อโควิด 19 ส่วนใหญ่อาการรุนแรง ปัจจัยเสี่ยงสำคัญจากคนในครอบครัว ให้เข้มมาตรการป้องกันซึ่งเป็นวัคซีนที่ทำได้เองและดีที่สุด
วันนี้ (18 มกราคม 2564) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวว่า สถานการณ์โรคโควิด 19 ประเทศไทย ระลอกใหม่ ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2563 ถึงวันที่ 17 มกราคม 2564 (ณ เวลา 24.00 น.) ผู้ป่วยยืนยันสะสม 8,186 ราย วันนี้มีรายงานผู้ป่วยรายใหม่ 369 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 357 ราย เดินทางจากต่างประเทศและอยู่ในสถานที่กักกันตัว 12 ราย กลับบ้านได้ 191 ราย รวมกลับบ้านสะสม 5,266 ราย ยังรักษาในโรงพยาบาล 2,910 ราย ในจำนวนนี้ มีผู้ป่วยอาการหนักต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ 15 ราย ผู้เสียชีวิตสะสม 10 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.12 ซึ่งอยู่ในอัตราการที่ต่ำเมื่อเทียบกับการระบาดรอบแรก เนื่องจากมีความพร้อมด้านครุภัณฑ์ เวชภัณฑ์ เตียง บุคลากร ความพร้อมโรงพยาบาลรัฐ/เอกชน/ โรงพยาบาลสนาม ดูแลผู้ติดเชื้อ รวมทั้งมาตรการรับคนไทยกลับเข้าประเทศถูกกฎหมาย นำเข้าระบบกักกันตัว ป้องกันการแพร่เชื้อให้กับคนในประเทศ
สำหรับครอบครัว ถือเป็นอีกจุดหนึ่งที่มีการแพร่ระบาดและติดเชื้อสูง เช่น การติดเชื้อในครอบครัวในชุมชนวัดสิงห์ กทม. ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อในอีกหลายครอบครัว, ผู้ที่มีกิจกรรมร่วมกัน, วินมอเตอร์ไซค์ รวมถึงไปติดในสถานที่ทำงาน รวมทั้งสิ้น 34 คน มีจุดสำคัญในการแพร่เชื้อ คือ ความเสี่ยงของคนในครอบครัว ในร้านอาหารสถานที่ขายอาหาร สถานที่ทำงาน ซึ่งเกิดจากการไม่สวมหน้ากากอนามัยและการรับประทานอาหารร่วมกัน ดังนั้น ขอความร่วมมือสถานประกอบการเน้นมาตรการเว้นระยะห่าง ไม่รับประทานอาหารร่วมกันเป็นกลุ่มใหญ่เนื่องจากเป็นจุดเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้
“การระบาดลอกใหม่ยังพบว่า ผู้เสียชีวิต 10 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุหรือมีโรคประจำตัว กลุ่มนี้เมื่อติดเชื้อมักจะเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง ขอความร่วมมือ ลูก หลานและคนในครอบครัว ระมัดระวัง เมื่อไปสถานที่เสี่ยง เช่น บ่อนการพนัน สถานบันเทิง หรือทำกิจกรรมที่เป็นความเสี่ยง ไม่ควรอยู่ใกล้ชิด แต่หากมีความจำเป็นต้องเข้มมาตรการ เว้นระยะห่าง ใส่หน้ากาก 100% ล้างมือบ่อยๆ จะเป็นการลดการแพร่กระจายไปยังผู้สูงอายุและคนในครอบครัวได้ ในส่วนสถานที่ดูแลกลุ่มเปราะบางหรือบ้านพักคนชรา ต้องมีมาตรการตรวจวัดอุณหภูมิทั้งผู้ที่เข้าเยี่ยมและเจ้าหน้าที่ดูแล ล้างมือบ่อยๆ และใส่หน้ากาก 100 % ซึ่งผ่านมาก็สามารถดำเนินการได้ดี”นพ.โอภาส กล่าว
อย่างไรก็ตาม การป้องกันส่วนบุคคล การใส่หน้ากาก การล้างมือ การเว้นระยะห่าง ยังคงเป็นมาตรการสำคัญในการป้องกันที่ทั่วโลกยอมรับ วัคซีนเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งช่วยเสริมให้การป้องกันควบคุมโรคดียิ่งขึ้น เพื่อให้สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ ขอเชิญชวนประชาชน โหลดแอปพลิเคชั่นหมอชนะ เพื่อใช้ในการติดตามไทม์ไลน์ ไม่มีการระบุตัวตน ช่วยให้การสอบสวนควบคุมโรคได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ผลการติดตามผู้สัมผัสจากแอปพลิเคชั่นหมอชนะ ตั้งแต่วันที่ 9 -16 มกราคม 2563 คนติดตามผู้สัมผัสได้ 4,232 ราย โดยข้อความแจ้งเตือนมี 3 ภาษา ได้แก่ ภาษาไทย อังกฤษ เมียนมา แจ้ง 3 ครั้ง ห่างกัน 30 นาที แนะนำการปฏิบัติตัวและติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อรับการตรวจหาเชื้อ หรือหากมีข้อสงสัย โทร 1422 สายด่วนกรมควบคุมโรค