‘อนุทิน’ เผยโครงการรับยาที่ร้านยาและไปรษณีย์กระแสตอบรับดี ลดความแออัดโรงพยาบาล

322

‘อนุทิน’ เผยโครงการรับยาที่ร้านยาและไปรษณีย์กระแสตอบรับดี ลดความแออัดโรงพยาบาล

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยโครงการรับยาที่ร้านยาใกล้บ้าน ลดความแออัดโรงพยาบาล ได้รับการตอบรับดี มีร้านยาเข้าร่วม 1,081 แห่ง โรงพยาบาลเข้าร่วม 141 แห่ง ผู้ป่วยรวม 29,299 คน รับยาแล้ว 54,730 ครั้ง ส่วนการรับยาทางไปรษณีย์มีโรงพยาบาลเข้าร่วม 217 แห่ง ผู้ป่วย 147,000 คน รับยาแล้ว 176,000 ครั้ง

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวถึงความคืบหน้านโยบายให้ผู้ป่วยรับยาที่ร้านขายยาและผ่านทางไปรษณีย์ เพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล ว่า การดำเนินงานโครงการลดความแออัดของหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยร้านขายยาแผนปัจจุบันประเภท 1 ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 เป็นต้นมา ข้อมูลถึงวันที่ 1 มกราคม 2564 พบว่า มีร้านขายยาเข้าร่วมโครงการ 1,081 แห่ง โรงพยาบาล 141 แห่ง แบ่งเป็นโรงพยาบาลศูนย์ 33 แห่ง โรงพยาบาลทั่วไป 56 แห่ง โรงพยาบาลชุมชน 20 แห่ง โรงพยาบาลสังกัดกรมสุขภาพจิต 15 แห่ง สังกัดกรมการแพทย์ 5 แห่ง และสังกัดอื่น 12 แห่ง

สำหรับผู้ป่วยที่เข้าร่วมโครงการมีจำนวน 29,299 คน ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 61-75 ปี มีการรับยาผ่านร้านขายยาแล้ว 54,730 ครั้ง โดยโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ จังหวัดเชียงราย มีผู้ป่วยเข้าร่วมโครงการมากที่สุด 5,590 คน รับยาที่ร้านยา 8,673 ครั้ง

ขณะนี้มีการเริ่มดำเนินงานรับยาผ่านร้านขายยาในรูปแบบที่ 3 คือ ร้านยาจะมีการสำรองยาไว้เพื่อจ่ายยาให้กับผู้ป่วย เมื่อแพทย์สั่งยา ข้อมูลใบสั่งยาจะถูกทบทวนโดยเภสัชกร และส่งข้อมูลดังกล่าวไปยังร้านยาเพื่อจัดยาและจ่ายยาให้ผู้ป่วยได้เลย

นายอนุทินกล่าวต่อว่า สำหรับโครงการจัดส่งยาให้ผู้ป่วยทางไปรษณีย์ เริ่มเมื่อเดือนเมษายน 2563 โดยมีระยะเวลาการดำเนินงาน 3 เดือน แต่จากสถานการณ์โรคโควิด 19 ที่ต้องเข้มข้นเรื่องมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม เพื่อลดโอกาสการรับเชื้อโควิด 19 ทำให้ประชาชนตอบรับบริการดังกล่าวอย่างดี จึงดำเนินการมาจนถึงปัจจุบันโดยคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้อนุมัติแผนงบประมาณปี 2564 ให้ สปสช. สนับสนุนค่าบริการให้กับโรงพยาบาลในการจัดส่งยาทางไปรษณีย์ให้ผู้ป่วยที่บ้าน ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2563 – 9 มกราคม 2564 มีโรงพยาบาลเข้าร่วมโครงการ 217 แห่ง ผู้ป่วยรับบริการ 147,270 คน เกิดบริการรับยาทางไปรษณีย์จำนวน 176,924 ครั้ง สำหรับผู้ป่วยที่รับบริการนี้มากที่สุด คือ ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง 41,999 ครั้ง นอกจากนี้ ยังนำไปสู่การจัดบริการทางไกล (Telemedicine) ผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางมาโรงพยาบาลและจัดส่งยาให้กับผู้ป่วยที่รับบริการนี้