อภ.แจง วัคซีนซิโนแวคทุกงวดไม่หมดอายุ เป็นเพียงการอนุญาตของ อย. ภายใน 6 เดือน ตามเอกสารที่บริษัทขอขึ้นทะเบียน

48

อภ.แจง วัคซีนซิโนแวคทุกงวดไม่หมดอายุ เป็นเพียงการอนุญาตของ อย. ภายใน 6 เดือน ตามเอกสารที่บริษัทขอขึ้นทะเบียน

blank

องค์การเภสัชกรรม แจงวัคซีนซิโนแวคทุกล็อตไม่หมดอายุ ที่ระบุวันหมดอายุยา 6 เดือนนับจากวันที่ผลิต เป็นการอนุญาตของ อย. เป็นแบบมีเงื่อนไขในสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีการระบาดใหญ่ของโรค ขอความร่วมมือหลีกเลี่ยงการติดสติกเกอร์ทับหรือแก้ไขข้อมูลบนกล่องบรรจุวัคซีนที่อาจทำให้เกิดความสับสน พร้อมส่งหนังสือทำความเข้าใจกับโรงพยาบาลทุกแห่ง

บ่ายวันนี้ (23 เมษายน 2564) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวว่า จากกรณีมีการแชร์ในสื่อโซเซียลมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเรื่องวันหมดอายุยาของวัคซีนซิโนแวคที่นำเข้าจากประเทศจีนนั้น ประเทศไทยได้นำเข้าวัคซีนซิโนแวค 2 ล้านโดส รอบแรก 2 แสนโดส ,รอบที่ 2 จำนวน 8 แสนโดส, รอบที่ 3 จำนวน 1 ล้านโดส และจะได้รับที่สั่งซื้อเพิ่มอีก 5 แสนโดส ในวันพรุ่งนี้ โดยในรอบแรกกล่องบรรจุวัคซีนจากบริษัทผู้ผลิต ระบุวันหมดอายุ 3 ปีนับจากวันผลิต และเนื่องจากการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นแบบมีเงื่อนไขในสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีการระบาดใหญ่ของโรค ได้พิจารณากำหนดอายุยาไว้ที่ 6 เดือน นับจากวันที่ผลิตในรอบ 2 อภ.จึงได้ประสานให้บริษัทผู้ผลิตเปลี่ยนวันหมดอายุยาให้ตรงตามที่ อย.อนุญาต ส่วนรอบที่ 3 และต่อ ๆ ไป เนื่องจากทั่วโลกมีความต้องการวัคซีนจำนวนมาก บริษัทซิโนแวคจึงจัดทำกล่องที่มีลักษณะทั่วไปให้สามารถจัดส่งให้กับประเทศต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว มีวันหมดอายุ 3 ปีนับจากวันผลิต ทาง อภ.จึงได้แก้ไขโดยจัดทำฉลากสติ๊กเกอร์ติดข้างกล่อง 3 ด้าน และด้านที่ 4 มีคิวอาร์โค้ดที่แสดงเอกสารกำกับการใช้ยา และวันหมดอายุ ซึ่งสติ๊กเกอร์ดังกล่าวได้รับการอนุญาตจาก อย.

“วัคซีนทุกรุ่นที่นำเข้าไม่หมดอายุ ได้ผ่านการส่งตรวจรับรองรุ่นการผลิตจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ก่อนการกระจายวัคซีนให้ผู้บริโภค จึงมั่นใจได้ว่าคุณภาพวัคซีนได้ตามมาตรฐาน ความสับสนมีเฉพาะรอบ 8 แสนโดสเท่านั้นที่ทางจีนพิมพ์ให้ 6 เดือน ในงวดถัด ๆ ไปหากมีกรณีที่การพิมพ์อายุยาบนกล่อง 3 ปีจากผู้ผลิต อภ. จะแก้ไขโดยการติดสติกเกอร์วันหมดอายุปิดทับบนกล่อง ให้เป็น 6 เดือนนับจากวันที่ผลิตตามที่ได้รับอนุมัติทะเบียนจาก อย. และจะแจ้งไปยังโรงพยาบาลให้เกิดความเข้าใจตรงกัน” ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรมกล่าว

ด้านภญ.ศิริกุล เมธีวีรังสรรค์ รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม เปิดเผยว่า ในสถานการณ์ที่เร่งด่วนนั้น องค์การฯ ได้จัดทำสติกเกอร์ QR Code ไว้ที่ข้างกล่องวัคซีน สำหรับให้สถานพยาบาล สแกนดูข้อมูล เอกสารกำกับยา ซึ่งได้ระบุอายุวัคซีน 6 เดือน อีกทั้งวัคซีนดังกล่าวต้องเก็บที่อุณหภูมิ 2-8C ตลอดเวลา ทำให้ไม่สามารถติดสติกเกอร์ที่ขวดวัคซีนในกล่อง เนื่องจากจะทำให้ระดับค่าของอุณหภูมิไม่คงที่ ส่วนกรณีข่าวในโซเชียลมีรูปแบบบรรจุภัณฑ์ที่ข้างกล่องมีสติ๊กเกอร์เพิ่ม หรือแก้ไขตัวเลขวันหมดอายุนั้น ไม่ได้เป็นการแก้ไขจากองค์การเภสัชกรรม และขอความร่วมมือหลีกเลี่ยงการติดสติกเกอร์ทับหรือแก้ไขข้อมูลบนกล่องบรรจุวัคซีนที่อาจทำให้เกิดความสับสนได้