สธ.เผยโควิดระลอกเมษายน พบผู้ติดเชื้อปอดอักเสบเพิ่มขึ้น ขอประชาชนเข้มมาตรการป้องกันตนเอง
กระทรวงสาธารณสุขเผยสถานการณ์โควิดระลอกเมษายน พบผู้ติดเชื้อที่มีอาการหนักหรือรุนแรงเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ใกล้เคียงศักยภาพระบบบริการการแพทย์ที่รองรับ ขณะนี้มีผู้ป่วยปอดอักเสบ 786 ราย โดยต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ 230 ราย ขอประชาชนร่วมมือสวมหน้ากาก 100 % หมั่นล้างมือ เว้นระยะห่าง ไม่สัมผัสใกล้ชิด หลีกเลี่ยงที่มีผู้คนแออัด และอากาศปิด เพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่
วันนี้ (29 เมษายน 2564) ที่ ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค แถลงว่า วันนี้ประเทศไทยมีรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,871 ราย เสียชีวิต 10 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 27,988 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยปอดอักเสบ 786 ราย โดยอาการหนักต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ 230 ราย ทำให้มีอัตราครองเตียง ICU สูงถึงร้อยละ 80 ในเขตกทม.และปริมณฑล ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดหอผู้ป่วยหนักโควิดรวม (Cohort ICU) และปรับห้องแยกหรือหอผู้ป่วยสามัญเป็นหอผู้ป่วยเฉพาะโควิด (Cohort Ward) รวมทั้งเปิด Hospitel เพิ่มเพื่อเตรียมรองรับจำนวนผู้ป่วยที่รับการรักษาเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งได้บริหารจัดการให้ผู้ตรวจหาการติดเชื้อได้ทราบผลและได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว สำหรับสถานการณ์ในระลอกเมษายน ขณะนี้การติดเชื้อและผู้ป่วยใหม่ระดับประเทศรวมทั้งกทม.และปริมณฑลเริ่มชะลอตัว แต่ยังมีจำนวนสูงอยู่ เฉพาะ กทม.มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 689 ราย
“ขณะนี้ผู้ติดเชื้อที่มีอาการหนักหรือรุนแรงกำลังเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วใกล้เคียงศักยภาพระบบบริการการแพทย์ที่รองรับอยู่ จึงต้องเพิ่มความเข้มงวดทั้งมาตรการควบคุมโรคและมาตรการส่วนบุคคล เพื่อป้องกันและลดการแพร่ระบาดให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ขอความร่วมมือประชาชน สวมหน้ากาก 100% เว้นระยะห่าง หมั่นล้างมือ หลีกเลี่ยงสถานที่คนแออัด ระบบระบายอากาศปิด และลดการสัมผัสใกล้ชิด เพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่”
นายแพทย์ทวีทรัพย์ กล่าวต่อว่า สำหรับผู้เสียชีวิตวันนี้มีจำนวน 10 ราย จากกรุงเทพมหานคร 6 ราย นครสวรรค์ สมุทรปราการ ยโสธร และอยุธยา จังหวัดละ 1 ราย เป็นเพศชาย 8 ราย หญิง 2 ราย อายุระหว่าง 45-91 ปี ปัจจัยเสี่ยงการเสียชีวิต มีเกี่ยวกับโรคประจำตัว ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดสมอง หัวใจ ไขมันในเลือดสูง ปอดเรื้อรัง ไตเรื้อรัง และภาวะอ้วน ข้อสังเกตคือผู้เสียชีวิตหลายราย ไม่ทราบว่าตนเองติดเชื้อ มารักษาเมื่อมีอาการมาก โดยสาเหตุการติดเชื้อส่วนใหญ่ มาจากการเป็นผู้สัมผัสจากคนในครอบครัว การร่วมสัมมนา การรวมกลุ่มรับประทานอาหารกับเพื่อนร่วมงาน ไปสถานที่เสี่ยง และติดเชื้อจากผู้ที่ดูแลผู้สูงอายุติดเตียง
ส่วนการฉีดวัคซีนโควิด 19 ขณะนี้ฉีดสะสมแล้ว 1,344,646 โดส แบ่งเป็นรับวัคซีนเข็มแรก 1,059,721 ราย และครบ 2 เข็ม 284,925 ราย โดยในวันที่ 28 เมษายน 2564 มีผู้ได้รับการฉีดวัคซีนสะสมแล้ว 64,933 โดส แบ่งเป็น เข็มที่ 1 จำนวน 20,761 ราย และเข็มที่ 44,172 ราย ซึ่งการฉีดวัคซีนระยะแรกนี้ มุ่งเน้นการปกป้องระบบการแพทย์และสาธารณสุข และเพื่อควบคุมการระบาด ทำให้สัดส่วนผู้ได้รับวัคซีนจึงประกอบไปด้วยบุคลากรสาธารณสุข ผู้ที่ปฏิบัติงานด่านหน้า และประชาชนในพื้นที่เสี่ยงต่อการระบาดส่วนใหญ่ อย่างไรก็ดี สำหรับประชาชนผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไปและผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค จะได้จัดให้มีการลงทะเบียนเพื่อขอรับวัคซีนได้ตั้งแต่ 1 พ.ค. เป็นต้นไป