เริ่มแล้ว “ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่”แนะ 7 กลุ่มเสี่ยงรีบฉีด ช่วงรอวัคซีนโควิด-19

243

เริ่มแล้ว “ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่”แนะ 7 กลุ่มเสี่ยงรีบฉีด ช่วงรอวัคซีนโควิด-19

blank

เริ่มแล้ว “ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่” สปสช. แนะขั้นตอนรับบริการวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ร่วมกับ “วัคซีนโควิด-19” พร้อมชวนประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยง รีบฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ก่อน ในระหว่างรอสิทธิฉีดวัคซีนโควิด-19 เดือน มิ.ย. ช่วยลดอัตราเสียชีวิตจากโควิด-19 ในผู้สูงอายุ ลดระยะเวลารักษาตัวใน รพ.

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ตามที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดให้ประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยงในทุกสิทธิรักษาพยาบาล จองสิทธิฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลจำนวน 6.4 ล้านโดส ภายใต้สิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ – 30 เมษายน 2564 และได้เปิดให้เข้ารับการฉีดวัคซีนที่หน่วยบริการ ได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม -31 สิงหาคม 2564 หรือจนกว่าวัคซีนจะหมด

ด้วยไวรัสไข้หวัดใหญ่เป็นสาเหตุสำคัญของการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจแบบเฉียบพลัน มีอัตราตายสูงในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ซึ่งการฉีดวัคซีนป้องกันจะช่วยลดการแพร่กระจายโรคไข้หวัดใหญ่ได้ ทั้งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ยังช่วยลดความสับสนในการตรวจคัดกรองภาวะติดเชื้อร่วมระหว่างโรคไข้หวัดใหญ่กับโรคโควิด-19 ได้ ในกลุ่มผู้สูงอายุที่ได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ยังช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ได้ นอกจากนี้ผู้ที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่มาก่อนติดเชื้อโควิด-19 ยังช่วยลดการนอนโรงพยาบาล หรือแม้แต่การเข้ารักษาในโรงพยาบาลสั้นกว่ากลุ่มไม่เคยฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่มาก่อนการติดเชื้อโควิด 19

นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 กระทรวงสาธารณสุขได้รณรงค์ให้ประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยงทุกสิทธิการรักษาพยาบาล จองสิทธิฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา และจะเริ่มให้บริการฉีดตั้งแต่เดือนมิถุนายน – กรกฎาคม 2564 เพื่อลดการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 สร้างภูมิคุ้มกันระดับประชากร ฟื้นฟูให้ประเทศกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

ตามเป้าหมายของการฉีดวัคซีนป้องกันทั้ง 2 โรคนี้ นอกจากเป็นกลุ่มประชากร 7 กลุ่มเสี่ยงเหมือนกันแล้ว ยังมีช่วงกำหนดระยะเวลาการรับบริการฉีดวัคซีนที่ใกล้เคียงกัน ที่ผ่านมาจึงมีคำถามและข้อสงสัยในการปฏิบัติเพื่อรับการฉีดวัคซีนทั้ง 2 โรค ซึ่งกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และ สปสช. ได้มีคำแนะนำสำหรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ร่วมกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล

กรณีประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่อยู่ในพื้นที่ยังไม่ได้การจัดสรรรวัคซีนโควิด-19 สามารถฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ก่อนฉีดวัคซีนโควิด-19  โดยเว้นระยะห่างอย่างน้อย 1 เดือน จึงฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 ต่อไปได้ โดยระยะห่างระหว่างเข็มของวัคซีนโควิด-19 ขึ้นอยู่กับชนิดวัคซีน ส่วนกรณีประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 เข็มที่ 1 แล้ว จะรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ให้ขึ้นอยู่กับชนิดของวัคซีนโควิด-19 เข็มที่ 1 ที่ได้รับไปแล้ว ดังนี้

ผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ของซิโนแวค (Sinovac) เข็มที่ 1 แล้ว ให้รับวัคซีนโควิด-19 ชนิดซิโนแวคเข็มที่ 2 จนครบทั้ง 2 เข็มก่อน โดยมีระยะการฉีดห่างกัน 2-4 สัปดาห์ จึงรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลได้ ซึ่งให้ห่างจากวัคซีนโควิด-19 เข็มที่ 2 อย่างน้อย 1 เดือน

ผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ของแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) กรณีผู้ฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 และอยู่ระหว่างรอกำหนดฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 สามารถรับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ได้ โดยให้ห่างจากวัคซีนโควิด-19 เข็มที่ 1 อย่างน้อย 1 เดือน และหลังจากนั้นให้ฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มที่ 2 ตามกำหนดนัด ให้มีระยะห่างจากการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่อย่างน้อย 1 เดือน ส่วนผู้ที่ต้องการรับวัคซีนโควิด-19 แอสตราเซเนกาให้ครบทั้ง 2 เข็มก่อน ซึ่งต้องฉีดห่างกันประมาณ 10-12 สัปดาห์ ก็สามารถเข้ารับวัคซีนไข้หวัดใหญ่หลังจากฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 แล้วอย่างน้อย 1 เดือน

“ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขอยู่ระหว่างการเปิดให้ประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยงจองสิทธิฉีดวัคซีนโควิด-19 และจะเริ่มให้บริการฉีดได้ในเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป ขณะที่วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ณ วันนี้สามารถเข้ารับการฉีดได้แล้ว ดังนั้นในระหว่างนี้ขอให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายเข้ารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ก่อน เพื่อที่จะรับวัคซีนโควิด-19 ในเดือนถัดไปอย่างต่อเนื่อง” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

ประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยงที่มีสิทธิรับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ 1. หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป 2. เด็กอายุ 6 เดือนถึง 2 ปี 3. ผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค (โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน) 4. ผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป 5. ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ 6. โรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ)  และ 7. โรคอ้วน (มีน้ำหนัก 100 กิโลกรัมขึ้นไป หรือดัชนีมวลกายมากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร)

 

ที่มา : สปสช.