กรมควบคุมโรค เตือน! ช่วงหน้าฝนไข้เลือดออกจะเริ่มมีสถิติป่วยสูงขึ้น ขอความร่วมมือประชาชนช่วยกันสำรวจและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ตามมาตรการปราบยุงลาย “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค”

87

กรมควบคุมโรค เตือน! ช่วงหน้าฝนไข้เลือดออกจะเริ่มมีสถิติป่วยสูงขึ้น ขอความร่วมมือประชาชนช่วยกันสำรวจและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ตามมาตรการปราบยุงลาย “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค”

PUrmsQ.jpg กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนช่วงหน้าฝนไข้เลือดออกจะเริ่มมีสถิติป่วยสูงขึ้น เนื่องจากเป็นฤดูกาลระบาดของโรคไข้เลือดออก จึงขอความร่วมมือประชาชนให้ช่วยกันสำรวจบริเวณรอบๆ ตัวบ้านและในชุมชน และกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายตามภาชนะหรือวัสดุต่างๆ ที่มีน้ำท่วมขังหลังจากฝนตก เพื่อป้องกันโรคติดต่อนำโดยยุงลาย โดยเฉพาะโรคไข้เลือดออก พร้อมแนะประชาชน เก็บบ้าน เก็บขยะ เก็บน้ำ ตามมาตรการปราบยุงลาย “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค”

วันนี้ (20 พฤษภาคม 2564) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ตามประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา ขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว ซึ่งฤดูฝนเป็นฤดูกาลระบาดของโรคไข้เลือดออก และหลายพื้นที่เริ่มมีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง โดยหลังจากฝนหยุดตกอาจมีน้ำขังอยู่ตามเศษภาชนะหรือวัสดุต่างๆ เช่น กล่องโฟม แก้ว ถุงพลาสติก ยางรถยนต์เก่า ถ้วยหรือกะลารองน้ำยางดิบ เป็นต้น เพราะภาชนะเหล่านี้อาจมีไข่ยุงลายแห้งติดค้างอยู่ เมื่อโดนน้ำฝนก็จะแตกตัวกลายเป็นลูกน้ำและยุงลายตัวเต็มวัยได้ภายในสัปดาห์เดียว จึงขอความร่วมมือประชาชนช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายเพื่อตัดวงจรการเกิดยุงลายที่เป็นพาหะนำโรค และป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงกัด เพราะอาจเสี่ยงป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก และโรคติดต่อนำโดยยุงลายอื่นๆ

สถานการณ์ของโรคไข้เลือดออกตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-9 พฤษภาคม 2564 พบผู้ป่วย 2,701 ราย เสียชีวิต 2 ราย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ 15-24 ปี รองลงมา 10-14 ปี และ 25-34 ปี ตามลำดับ ส่วนจังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ระนอง นครปฐม แม่ฮ่องสอน และระยอง ตามลำดับ หากเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา (มกราคม-เมษายน 63) พบผู้ป่วย 12,296 ราย เสียชีวิต 10 ราย จะเห็นได้ว่าจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกลดลงอย่างเห็นได้ชัด อาจเป็นผลมาจากประชาชนส่วนใหญ่อยู่บ้านเพื่อลดโอกาสเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด 19 และใช้โอกาสที่อยู่บ้านทำความสะอาดบ้านและบริเวณรอบๆ รวมถึงกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายไปด้วย

นายแพทย์โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการป้องกันโรคติดต่อนำโดยยุงลายนั้น ขอให้ประชาชนสำรวจพื้นที่ที่มีน้ำขัง และร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบริเวณรอบๆ ตัวบ้านและในชุมชน โดยแนะให้ประชาชนเก็บบ้าน เก็บขยะ เก็บน้ำ ตามมาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” ดังนี้ 1.เก็บบ้านให้สะอาด เช่น พับเก็บเสื้อผ้าใส่ในตู้หรือแขวนให้เรียบร้อย เพื่อไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง  2.เก็บขยะที่อยู่บริเวณรอบบ้าน เก็บภาชนะใส่อาหารหรือน้ำดื่มที่ทิ้งไว้ใส่ถุงดำ และนำไปทิ้งลงถังขยะ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง  และ 3.เก็บน้ำ ภาชนะที่ใส่น้ำเพื่ออุปโภคบริโภค ต้องปิดฝาให้มิดชิด ล้างคว่ำภาชนะใส่น้ำ และเปลี่ยนน้ำในกระถางหรือแจกันทุกสัปดาห์ ป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่ ซึ่งสามารถป้องกันได้ 3 โรค คือ 1.โรคไข้เลือดออก 2.โรคติดเชื้อไวรัสซิกา 3.โรคไข้ปวดข้อยุงลายหรือโรคชิคุนกุนยา

ด้านแพทย์หญิงฉันทนา ผดุงทศ ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กล่าวเสริมว่า นอกจากประชาชนที่ต้องจัดการภาชนะต่างๆ ที่มีน้ำขังในช่วงที่คนส่วนใหญ่ทำงานอยู่บ้านตามนโยบาย Work from Home แล้ว ในส่วนของกองโรคติดต่อนำโดยแมลง ยังได้พิจารณาในประเด็นการป้องกันโรคไข้เลือดออกในกลุ่มผู้ป่วยโรคโควิด 19 ที่พักในโรงพยาบาลสนาม เพราะอาจป่วยพร้อมกันได้ และจะทำให้การรักษายุ่งยากซับซ้อนขึ้น  ทั้งนี้ ได้จัดทำ “คำแนะนำการป้องกันโรคติดต่อนำโดยยุงลายสำหรับโรงพยาบาลสนาม” และส่งให้ประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อดำเนินการต่อไป ซึ่งในเนื้อหาประกอบด้วยกิจกรรมสำคัญ คือ การเฝ้าระวังผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกในโรงพยาบาลสนาม  หากพบควรส่งรักษาต่อ การกำจัดขยะพลาสติกที่อาจมีน้ำขังในบริเวณโรงพยาบาลสนาม การจัดยาทาป้องกันยุงให้ผู้ป่วยได้ใช้ และการพ่นสารเคมีกำจัดยุงตัวแก่รอบบริเวณอาคาร

ทั้งนี้ หากประชาชนมีอาการป่วย เช่น มีไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หายใจเหนื่อยหอบ เบื่ออาหาร ปวดท้อง ซึ่งอาจมีลักษณะคล้ายกันหลายโรค ทั้งโรคไข้หวัดใหญ่ โรคไข้เลือดออก และโรคโควิด 19 จึงขอให้ประชาชนใส่หน้ากากอนามัย รับประทานยาลดไข้ 1-2 วัน โดยให้เลือกรับประทานยาแก้ไข้พาราเซตามอล หลีกเลี่ยงการทานยากลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) เช่น ยาไอบูโพรเฟน แอสไพริน เพราะถ้าเป็นไข้จากโรคไข้เลือดออก ยากลุ่มนี้จะส่งผลทำให้การรักษายุ่งยากและเสี่ยงต่อการทำให้มีอาการหนักมากยิ่งขึ้น หากทานยาแล้วอาการไม่ดีขึ้นให้รีบไปพบแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัยโรคหาสาเหตุและรับการรักษาต่อไป สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

********************************

ข้อมูลจาก : กองโรคติดต่อนำโดยแมลง/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค (วันที่ 20 พฤษภาคม 2564)

ที่มา : https://ddc.moph.go.th/brc/news.php?news=18622&deptcode=brc&news_views=1228