ญี่ปุ่น มอบวัคซีนแอสตราเซเนกา ให้ไทยจำนวน 1.05 ล้านโดส เพื่อนำไปเสริมสร้างขีดความสามารถด้านสาธารณสุขและการแพทย์ของไทย

556

ญี่ปุ่น มอบวัคซีนแอสตราเซเนกา ให้ไทยจำนวน 1.05 ล้านโดส เพื่อนำไปเสริมสร้างขีดความสามารถด้านสาธารณสุขและการแพทย์ของไทย

วันที่ 29 มิถุนายน 2564 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกรัฐบาล เปิดเผยว่า รัฐบาลญี่ปุ่นมอบวัคซีน Astrazeneca จำนวน 1.05 ล้านโดส ให้รัฐบาลไทย โดยจะมีการลงนามบ่ายวันนี้! (29 มิถุนายน 2564) ที่กระทรวงการต่างประเทศ

นายกรัฐมนตรีขอบคุณในไมตรีจิตและความห่วงใหญ่ของรัฐบาลญี่ปุ่น ทั้งนี้ ญี่ปุ่นได้มอบวัคซีนโควิด19 ให้กับอินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ด้วย โดยจะจัดส่งให้ช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2564 ซึ่งก่อนหน้านี้ ได้มอบวัคซีนให้ไต้หวันและเวียดนามแล้ว
วันนี้ ครม. มีมติเห็นชอบการลงนามในหนังสือแลกเปลี่ยนการบริจาคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของฝ่ายไทย เพื่อรับมอบวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของบริษัท AstraZeneca จากรัฐบาลญี่ปุ่น จำนวน 1.05 ล้านโดส โดยสาระสำคัญของร่างหนังสือแลกเปลี่ยนระบุให้รัฐบาลไทยจะต้องดำเนินมาตรการที่จำเป็น ดังนี้
1.นำวัคซีนโควิด-19 ไปใช้อย่างเหมาะสมและเป็นการเฉพาะ เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถด้านสาธารณสุขและการแพทย์ของไทย โดยห้ามใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางด้านการทหาร
2.รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่จำเป็นหรือเกี่ยวข้องกับวัคซีนโควิด-19 ยกเว้นรัฐบาลของทั้งสองประเทศจะได้ตกลงกันเป็นอย่างอื่น และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่จำเป็นเกี่ยวข้องกับวัคซีนโควิด-19 ตามที่ทั้งสองฝ่ายตกลงกันไว้ ซึ่งครั้งนี้ ไทยจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้านการขนส่งจากญี่ปุ่น ประมาณ 10- 99 ล้านเยน หรือ 2.9 – 28.7 ล้านบาท โดยกระทรวงสาธารณสุข มีงบประมาณรองรับส่วนนี้ไว้แล้ว
3.เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 เมื่อได้รับการร้องขอ
4.ไม่ส่งต่อวัคซีนโควิด-19 ให้แก่บุคคล หน่วยงาน รัฐบาลอื่น โดยไม่ได้รับความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากรัฐบาลญี่ปุ่นเป็นการล่วงหน้า

5.รายละเอียดที่จำเป็นสำหรับการดำเนินการ ข้อกำหนด และเงื่อนไขเกี่ยวกับการส่งมอบวัคซีนจะจัดทำโดยหน่วยงานผู้มีอำนาจของรัฐบาลญี่ปุ่น คือ กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ และหน่วยงานผู้มีอำนาจของรัฐบาลไทย คือกระทรวงสาธารณสุข

สำหรับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของบริษัท AstraZeneca ที่รัฐบาลญี่ปุ่น จะส่งมอบให้รัฐบาลไทย มี 2 ประเภท ได้แก่ 1)ผลิตโดยใช้หัวเชื้อยาจากโรงงานบริษัท Catalent ของสหรัฐอเมริกา โดยบริษัท KM Biologics Co., Ltd. ของญี่ปุ่นเป็นผู้ผสมและบรรจุวัคซีน และ2)ผลิตโดยใช้หัวเชื้อยาจากโรงงานบริษัท Catalent ของสหรัฐอเมริกา โดยบริษัท Daiichi Sankyo Co., Ltd. ของญี่ปุ่นเป็นผู้ผสมและบรรจุวัคซีน