เชียงใหม่กำชับ! ร้านอาหาร-เครื่องดื่ม นั่งดื่มแอลกอฮอล์ในร้านได้ไม่เกิน 3 ทุ่ม ครอบคลุมทั้งเจ้าของร้านและผู้บริโภค ปรับสูงสุด 20,000 บาท

307

เชียงใหม่กำชับ! ร้านอาหาร-เครื่องดื่ม นั่งดื่มแอลกอฮอล์ในร้านได้ไม่เกิน 3 ทุ่ม ครอบคลุมทั้งเจ้าของร้านและผู้บริโภค ปรับสูงสุด 20,000 บาท

เมื่อวันที่ 6 ก.ค. 64 นายกนก ศรีวิชัยนันท์ ปลัดจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยในการแถลงข่าวสื่อมวลชนประจำสัปดาห์ ว่าภายหลังจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ ได้มีมติออกคำสั่งที่ 69/2564 เรื่องห้ามบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้านและบริเวณต่อเนื่อง โดยกำหนดให้ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ที่ได้รับอนุญาตให้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากกรมสรรพสามิต สามารถบริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้านและบริเวณต่อเนื่อง ได้ถึงเวลา 21.00 น. และให้ปิดร้านในเวลา 22.30 น. นั้น ได้มีการสั่งการเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ตำรวจทุกอำเภอออกตรวจสอบ พบว่ามีร้านที่ฝ่าฝืนคำสั่งดังกล่าวจำนวนมาก ซึ่งในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ ที่ผ่านมา ได้ดำเนินการจับกุมผู้ประกอบการไปกว่า 10 ราย และจากการลงพื้นที่ตรวจ พบปัญหาของเจ้าของร้านว่าผู้ใช้บริการที่นั่งอยู่ในร้านได้ทำการเช็คบิลแล้ว แต่ยังคงกิน ดื่มอยู่ ทำให้เกิดความลำบากใจที่จะต้องแจ้งต่อลูกค้า และเนื่องจากประกาศฉบับดังกล่าวเอาผิดแค่เจ้าของร้าน ไม่สามารถเอาผิดผู้บริโภคได้ จึงทำให้เกิดความลักลั่นต่อการปฏิบัติ

blank

คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ จึงได้มีมติออกคำสั่งที่ 70/2564 เรื่องมาตรการควบคุมส่วนบุคคลในการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้านและบริเวณต่อเนื่อง ซึ่งจะครอบคลุมถึงผู้บริโภคที่เข้าไปใช้บริการด้วย เพราะฉะนั้น ทั้งร้านและผู้บริโภคเองสามารถนั่งดื่มในร้านและบริเวณต่อเนื่องได้ถึงเวลา 21.00 น. หากตรวจพบว่าฝ่าฝืนจะถูกดำเนินคดี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท ซึ่งในทางปฏิบัติ การปรับก็จะไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้เข้าใช้บริการภายในร้าน โดยมาตรการดังกล่าวจะมีผลไปถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2564 ขณะเดียวกัน ได้มีการบังคับใช้เรื่องการจำหน่ายสุราด้วย ซึ่งตาม พ.ร.บ. สุรา สามารถจำหน่ายได้ 2 ช่วงคือ 11.00-14.00 และ 17.00-24.00 แต่ในส่วนของจังหวัดเชียงใหม่ ตามคำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อฯ กำหนดให้จำหน่ายสุราในช่วงเวลา 11.00-14.00 และ 17.00-21.00 เพื่อสอดคล้องกับประกาศที่ให้ประชาชนนั่งบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ถึงเวลา 21.00 เช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ จังหวัดเชียงใหม่ได้เข้มงวดกวดขันการลงทะเบียนผ่านระบบ CM-CHANA โดยเฉพาะผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือพื้นที่สีแดงเข้ม จะต้องลงทะเบียนก่อนเข้าพื้นที่ไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง จากนั้นจะได้รับข้อความผ่าน SMS และให้ติดต่อกลับไปยังเจ้าพนักงานควบคุมโรคตามหมายเลขโทรศัพท์ที่ระบุไว้ ซึ่งเมื่อเดินทางมาถึงเชียงใหม่ไม่ว่าช่องทางใดก็ตาม จะต้องแสดงหลักฐานการลงทะเบียนในระบบ CM-CHANA ซึ่งหากเดินทางมาโดยอากาศยาน กรณียังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน จะมีจุดตรวจหาเชื้อที่ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และหากเดินทางมาโดยรถไฟหรือขนส่งสาธารณะ จะมีเจ้าพนักงานคอยอำนวยความสะดวกทั้งที่สถานีรถไฟ และสถานีขนส่งอาเขต ซึ่งหากผู้โดยสารที่เดินทางมากจาก 10 จังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน และพักอาศัยอยู่ในเขตพื้นที่อำเภอเมือง เจ้าหน้าที่จะแนะนำให้ไปรับการตรวจหาเชื้อ (Swab) ที่โรงพยาบาลเอกชน ทั้งโรงพยาบาลเชียงใหม่ราม โรงพยาบาลเชียงใหม่ใกล้หมอ โรงพยาบาลราชเวช โรงพยาบาลเทพปัญญา และโรงพยาบาลลานนา หากพักอาศัยในพื้นที่ต่างอำเภอ สามารถแจ้งต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคเพื่อขอเข้ารับการตรวจหาเชื้อที่โรงพยาบาลประจำอำเภอได้ ส่วนผู้ที่เข้ามาโดยรถยนต์ส่วนตัว จะผ่านด่านหลักเพียง 2 ด่านเท่านั้น อย่างไรก็ตามอาจเกิดการหลุดรอดไปได้ แต่ยังคงมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และ อสม.ในพื้นที่ กว่า 1,000 คน รวมถึงเจ้าของสถานที่พัก ที่จะเป็นกำลังหลักสำคัญในการตรวจสอบให้ผู้เข้าพื้นที่หรือผู้เข้าพัก ซึ่งนอกจากจะลงทะเบียนผู้เข้าพักแล้วทุกคนจะต้องลงทะเบียนในระบบ CM-CHANA ด้วย

ในส่วนของทีมโควิดหมู่บ้าน/ชุมชน ก็เช่นกัน จะเป็นผู้ทำหน้าที่ตรวจสอบผู้คนที่เข้าไปในพื้นที่ ซึ่งหากพบเห็นจะกำชับให้ลงทะเบียนใน CM-CHANA และเข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ที่โรงพยาบาลประจำอำเภอ ทั้งนี้ หากพบผู้ที่ฝ่าฝืนไม่ลงข้อมูลในระบบ CM-CHANA และไม่กักตัวตามคำสั่งของพนักงานควบคุมโรค จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยจะสามารถตรวจสอบได้จากผลการสอบสวนโรค อย่างในกรณีของเนตไอดอลสาว ที่ติดเชื้อโควิด-19 และจากการสอบสวนโรคพบว่าไม่มีการลงทะเบียนใน CM-CHANA และเดินทางไปในหลายพื้นที่ จึงถูกแจ้งความดำเนินคดีที่ สภ.ภูพิงค์ เพราะลงเครื่องที่ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ซึ่งเป็นเขตรับผิดชอบของ สภ.ภูพิงค์

blank
blank