นายกฯ เน้นความสำคัญเทคโนโลยีดิจิทัล-นวัตกรรม ย้ำหน่วยงาน ให้ประชาชนเข้าถึงบริการ Free WiFi

206

นายกฯ เน้นความสำคัญเทคโนโลยีดิจิทัล/นวัตกรรม ย้ำหน่วยงาน ให้ประชาชนเข้าถึงบริการ Free WiFi หวังดึงคนรุ่นใหม่ร่วมงานรองรับการพัฒนาประเทศในอนาคต

เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 64 เวลา 09.30 น.   พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2564 (ผ่านระบบ Video Conference) โดยมี   พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) นางสาวอัจฉรินทร์  พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ  เข้าร่วมด้วย

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า  ขณะนี้ประเทศไทยและทั่วโลกกำลังเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงขอให้ทุกคนและทุกหน่วยงานต้องเตรียมรองรับสถานการณ์และปรับตัวในรูปแบบ New Normal  เพี่อให้ดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างปลอดภัยทั้งการดูแลสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม และกิจกรรมอื่น ๆ รวมถึงเตรียมความพร้อมประเทศด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรม โดยกำหนดแนวทางที่สามารถนำไปปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง จัดลำดับความสำคัญเร่งด่วนของโครงการให้สอดคล้องกับห้วงเวลาที่กำหนดและยุทธศาสตร์ชาติ รวมทั้งใช้จ่ายงบประมาณให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส เป็นธรรม เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมและประเทศ

นายกรัฐมนตรี ยังเน้นความสำคัญของการพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีดิจิทัลของประเทศ ทั้งในส่วนสถานบันการศึกษาต่าง ๆ และการทำงานร่วมกับภาคเอกชน  โดยเฉพาะการดึงกลุ่ม Start up คนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถมาร่วมทำงานด้วย เพื่อขับเคลื่อนประเทศไปสู่สังคมเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมในอนาคตตามเป้าหมายที่กำหนด

ในการประชุม นายกรัฐมนตรี ยังติดตามโครงการบริการฟรีอินเทอร์เน็ตไร้สาย โดยขอให้ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมมือกันดำเนินการ ช่วยกันรับผิดชอบดูแล  พร้อมย้ำกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้บริการประชาชน ควรช่วยให้ประชาชนเข้าถึง free wi-fi  และบริการออนไลน์ แอปพลิเคชั่นต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์รวมถึงโครงการให้ความช่วยเหลือ ตามนโยบายรัฐบาลอย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันก็ต้องมีมาตรการดูแลการใช้งานที่ไม่ถูกต้องหรือผิดกฎหมายด้วย  ที่ผ่านมามีการดำเนินการจับกุมได้ แต่ก็มีกระทำผิดซ้ำ โดยจะเสนอให้มีการปรับปรุงกฎหมายเพิ่มโทษผู้กระทำความผิดด้วย

ทั้งนี้ ที่ประชุมรับทราบ “แผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทยระยะ 7 ปี (พ.ศ. 2564–2570)” แบ่งเป็น ชุดโครงการระยะเร่งด่วน ดำเนินการภายใน 2 ปี (พ.ศ. 2564-2565) และระยะที่ 2 (พ.ศ.2566-2570) มีเป้าหมายเพื่อการเตรียมโครงสร้างพื้นฐานด้านกำลังคนด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI)  ส่งเสริมผู้ประกอบการหน้าใหม่ การพัฒนาเทคโนโลยีและประยุกต์ใช้ AI เพื่อช่วยยกระดับมูลค่าทางเศรษฐกิจ และยกระดับคุณภาพประชาชน  เน้นย้ำถึงการสร้างบุคลากร กำลังคนที่ผลิตได้จากสถาบันการศึกษาต่างๆ ตลอดจนการทำงานร่วมกับผู้ประกอบการ และภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ที่มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี หรือใช้ประโยชน์จากข้อมูลในมิติต่างๆ เพื่อให้ AI สามารถช่วยยกระดับมูลค่าของธุรกิจ หรือบริการที่ดีขึ้น โดยตั้งเป้าหมายการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ AI ตามแผนงาน 7 ปึ  สร้างทรัพยากรบุคคลของประเทศที่มีศักยภาพตามสาขาความต้องการด้าน AI เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ต่อปี หรือประมาณ 7 แสนคนใน 7 ปี  มีการลงทุนด้าน AI ในภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ต่อปี หรือ 3 หมื่นรายใน 7 ปี เกิดธุรกิจใหม่ และนวัตกรรมบริการที่ใช้เทคโนโลยี AI เพิ่มขึ้นใม่ต่ำกว่า 700 ราย ใน 7 ปี ตลอดจนยกระดับขีดความสามารถแข่งขันของประเทศ

พร้อมเห็นชอบในหลักการให้โอนทรัพย์สิน อุปกรณ์และโครงข่ายฯ รวมถึงระบบควบคุมส่วนกลางภายใต้โครงการเน็ตประชารัฐและโครงการขยายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต (โครงการงบ Big Rock) ซึ่งเป็นส่วนต่อขยายของโครงข่ายเน็ตประชารัฐ ให้กับ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) ภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2564 โดย NT จะต้องบริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะประจำหมู่บ้านอย่างต่อเนื่องในราคาถูก รวมทั้งบำรุงรักษาทรัพย์สินดังกล่าวให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุด

ทั้งนี้ กระทรวงดีอีเอส โดย NT จะร่วมมือกับท้องถิ่น ในการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะประจำหมู่บ้าน 24,700 หมู่บ้าน ซึ่งก่อนหน้าได้มีการวางโครงข่ายเน็ตประชารัฐครอบคลุมไว้แล้ว  พร้อมมอบนโยบายให้ท้องถิ่นรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการจัดให้มีบริการดังกล่าว