สธ.ย้ำเลือกชุดตรวจ ATK ที่ผ่านมาตรฐาน อย. และควรตรวจหลังมีความเสี่ยงในช่วง 3-5 วัน
เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมด้วย นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และ ภญ.ศิริกุล เมธีวีรังสรรค์ รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม แถลงเรื่องประสิทธิภาพของ ATK ที่ใช้ในประเทศไทย โดย นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงการตรวจโควิด 19 ด้วยการใช้ชุดตรวจ ATK ซึ่งขณะนี้เริ่มมีราคาถูกลง ทั้งนี้ ราคาไม่ใช่สิ่งที่ตัดสินคุณภาพของ ATK แต่ต้องเลือกยี่ห้อที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจาก อย. และชุดตรวจ ATK มีข้อจำกัดในการใช้ แนะนำให้ตรวจหลังมีความเสี่ยงรับเชื้อแล้ว 3-5 วัน หากตรวจทันทีอาจไม่พบเชื้อเนื่องจากปริมาณไวรัสยังมีน้อย แต่กรณีที่มีอาการไข้และอาการระบบทางเดินหายใจให้ตรวจทันที
นพ.ศุภกิจกล่าวต่อว่า ชุดตรวจ ATK แบบที่ใช้สารคัดหลั่งจากทางโพรงจมูก ให้ใช้ไม้ swab ที่ให้มากับชุดตรวจเก็บตัวอย่างในจมูกทั้ง 2 ข้าง โดยสอดลึก 2-3 เซนติเมตร แล้วปั่นข้างละ 5 รอบ เพื่อให้ได้สารคัดหลั่งมากพอ ส่วนชุดตรวจที่ใช้น้ำลาย ก็ให้เก็บน้ำลายตามวิธีที่ชุดตรวจกำหนด สำหรับการอ่านผลตรวจ ตลับชุดตรวจต้องมีแถบสีเกิดขึ้นบริเวณตัว C จึงใช้ได้ หากมีแถบขึ้นที่ตัว T ร่วมด้วย หมายถึงผลบวก หากไม่มีแถบขึ้นที่ตัว T คือผลลบ ทั้งนี้ เมื่อได้ผลบวกให้แจ้งเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือโทร.สายด่วน สปสช. 1330 หรือรายงานผลตรวจผ่านแอปพลิเคชัน H4U หรือ SMART-อสม. กรณีเป็นสถานประกอบการ จะมีโรงพยาบาลคู่สัญญาในการทำ Bubble and Seal และพิจารณาส่งต่อเข้าระบบการรักษา ส่วนกรณีโรงเรียน ถ้าพบผล ATK บวก ให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเข้าไปสอบสวนโรค เพื่อตรวจซ้ำด้วยชุดตรวจ ATK หรือตรวจ RT-PCR
“ชุดตรวจที่ผ่านมาตรฐาน อย.จะเกิดผลบวกลวงน้อยมาก ปัจจัยที่ทำให้เกิดผลบวกลวง คือ ชุดตรวจที่ไม่ผ่านมาตรฐาน อย. มีคุณภาพต่ำ หรือ อาจมีการปนเปื้อนเชื้ออื่น หรือ ทิ้งผลตรวจไว้นานเกินไปแล้วมาอ่านค่าภายหลัง หรือ สภาพการตรวจไม่เหมาะสม จึงต้องควบคุมปัจจัยเหล่านี้ให้ดี ส่วนผลลบลวงเกิดได้หากตรวจหลังจากวันที่รับเชื้อเร็วเกินไป ปริมาณไวรัสจะยังไม่มากพอ หรือ เก็บสิ่งส่งตรวจไม่ถูกต้อง หรือ วิธีการตรวจไม่ถูกต้อง หรืออ่านผลเร็วเกินไป” นพ.ศุภกิจกล่าว
นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า คุณสมบัติของชุดตรวจ ATK แต่ละประเทศกำหนดแตกต่างกัน โดยประเทศไทยกำหนดความไวเชิงวินิจฉัย มากกว่าหรือเท่ากับ 90% ความจำเพาะเชิงวินิจฉัย มากกว่าหรือเท่ากับ 98% และความไม่จำเพาะน้อยกว่าหรือเท่ากับ 10% ซึ่งปัจจุบันมีชุดตรวจผ่านการประเมินและขึ้นทะเบียนกับ อย.แล้ว 193 รายการ แบ่งเป็น ชุดตรวจที่ใช้โดยประชาชนทั่วไป 100 รายการ และใช้โดยบุคลากรทางการแพทย์ 93 รายการ โดย อย.จะพิจารณาทั้งประสิทธิภาพ คุณภาพและความปลอดภัย รวมถึงมีการทดสอบตัวอย่างชุดตรวจโดยโรงเรียนแพทย์ด้วย
ด้าน ภญ.ศิริกุล เมธีวีรังสรรค์ รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า องค์การเภสัชกรรมจัดทำโครงการ ATK คุณภาพเพื่อสังคมไทย เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงชุดตรวจ ATK คุณภาพในราคาที่เหมาะสม สนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการเปิดประเทศ เปิดกิจการ/กิจกรรมต่างๆ โดย ATK ที่จัดหามีคุณภาพและผ่านมาตรฐานของ อย. สิ่งสำคัญคือ ต้องจัดเก็บชุดตรวจในอุณหภูมิที่เหมาะสมตามแนะนำข้างกล่อง เนื่องจากพบว่าบางคนเก็บชุดตรวจ ATK ไว้ในรถทำให้เสื่อมคุณภาพ และเมื่อจะใช้งาน ต้องอ่านคู่มืออย่างละเอียดเพื่อใช้ได้อย่างถูกต้องและได้ผลแม่นยำ ทั้งนี้ ชุดตรวจที่องค์การเภสัชกรรมจัดจำหน่ายได้รับความสนใจจากประชาชนอย่างมาก จึงเปิดขายผ่านเว็บไซต์เมื่อได้รับใบอนุญาตโฆษณาแล้ว พร้อมสั่งซื้อเข้ามาเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง มีสินค้าเพียงพอ เพื่อให้ผู้บริโภครายย่อยเข้าถึงสินค้าจึงกำหนดให้ซื้อได้คนละ 1 กล่อง