กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เผยผลสำรวจพฤติกรรมการบริโภคอาหารดิบ พบประชาชนร้อยละ 28 นิยมบริโภคอาหารดิบ โดยไม่ปรุงสุก ไม่ผ่านความร้อน เสี่ยงโรคพยาธิ ไข้หูดับ และติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร หากรุนแรงอาจถึงขั้นเสียชีวิต
เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 65 นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า กระแสการรับประทานอาหารดิบของคนไทยกำลังเป็นที่นิยม เชื่อว่าอาหารดิบมีความสดใหม่ น่ารับประทาน รสชาติเป็นที่ถูกปากสำหรับผู้ที่ชื่นชอบอาหารดิบ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ โดยกองสุขศึกษาจึงได้เฝ้าระวังพฤติกรรมการบริโภคอาหารดิบของประชาชน โดยความร่วมมือจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ และศูนย์สนับสนุนบริการสุขภาพที่ 1 – 12 ระหว่างวันที่ 5 – 31 มีนาคม 2565 มีผู้ตอบแบบสำรวจ จำนวนทั้งสิ้น 113,847 คน ผลการสำรวจ พบว่า ประชาชน ร้อยละ 28 กินอาหารดิบอย่างน้อย 1 อย่าง โดยแบ่งเป็นอาหารดิบ แต่ละประเภท ดังนี้ 1) ประชาชนร้อยละ 22.2 นิยมกินอาหารทะเลดิบ เช่น ตำกุ้งสด ปลาหมึกช็อต ปลาแซลมอนซาซิมิ ยำปูทะเล 2) ประชาชนร้อยละ 10.9 นิยมกินสัตว์น้ำจืดดิบ เช่น ยำ/ตำ/ก้อย กุ้งฝอย ปลาดิบ ปูดิบ หอยดิบ 3) ประชาชนร้อยละ 7.3 นิยมกินเนื้อวัวดิบ เช่น ก้อยเนื้อ ซอยจุ๊ ก้อยมะนาว ลาบเลือด ส้มวัว และ 4) ประชาชนร้อยละ 5.9 นิยมกินเนื้อหมูดิบ เช่น ก้อยหมู หลู้หมู แหนมหมู จากผลการสำรวจพบว่าประชาชนยังคงนิยมรับประทาน อาหารดิบที่ไม่ผ่านการปรุงสุก ไม่ผ่านความร้อน หรือใช้ความร้อนในระยะเวลาอันสั้น เช่น ยำปูสด ส้มตำหลากหลายรูปแบบ ลาบหมู ก้อยเนื้อ รวมถึงอาหารประเภทยำต่างๆ ที่มักจะลวกเนื้อสัตว์กึ่งดิบกึ่งสุก และเน้นรสชาติที่เผ็ดจัดหรือเปรี้ยวจัด เพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อโรค เสี่ยงต่อการเป็นพยาธิใบไม้ในปอด โดยเฉพาะการกินปูดิบ ๆ เข้าไปมีโอกาสกินไข่ หรือ ตัวอ่อนของพยาธิเข้าไปด้วย ซึ่งสามารถชอนไชเข้าไปในปอด ฟักตัว และมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 1 เดือน ส่งผลให้มีอาการไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือด และในบางรายอาจทำให้เสียชีวิตได้ นอกจากนี้การรับประทานหมูดิบหรือสุกๆ ดิบๆ เสี่ยงป่วยด้วยโรคไข้หูดับได้เช่นเดียวกัน
ด้านทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า ดังนั้นเพื่อป้องกันการเสี่ยงอันตรายจากการกินอาหารดิบประเภทต่าง ๆ ประชาชนจึงควรหันมาสร้างพฤติกรรมการกินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ สะอาด ผ่านความร้อนในระดับที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ โดยเลือกซื้อวัตถุดิบจากแหล่งที่ได้มาตรฐาน ไม่ใช้เขียงของดิบและของสุกร่วมกัน และก่อนนำวัตถุดิบต่าง ๆ มาปรุงประกอบอาหาร ควรล้างน้ำให้สะอาด เพื่อลดการปนเปื้อนของเชื้อโรค สารเคมีตกค้าง และการรับประทานอาหารประเภทเนื้อสัตว์ทุกชนิดต้องปรุงสุกถึงข้างใน เพื่อไม่ให้เกิดโรคพยาธิ โรคอุจจาระร่วง โรคอาหารเป็นพิษ โรคไข้หูดับ และอันตรายถึงชีวิตได้