“หมอเก่ง” ซักฟอก “อนุทิน” จงใจสร้างสุญญากาศทางกฎหมายคุมกัญชา เอาชีวิตประชาชนมาเสี่ยง ชี้ต้องมีการควบคุมอย่างเหมาะสม กัญชามีประโยชน์ แต่ก็มีโทษเช่นกัน
วันที่ 19 ก.ค. 65 นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล อภิปรายไม่ไว้วางใจ อนุทิน ชาญวีรกูล ระบุว่า ช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา กัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 จนมีการเริ่มปลดล็อกกัญชาเพื่อการแพทย์ตั้งแต่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 ก่อนที่อนุทิน ชาญวีรกุล เข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2562 และเดินหน้าปลดล็อกกัญชา ‘เพื่อการแพทย์’ อย่างแข็งขัน โดยวันที่ 14 ธันวาคม 2563 ได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ว่า วัตถุหรือสารในพืชกัญชา ที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตในประเทศ และมีสาร THC ไม่เกิน 0.2% ไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5
ต่อมา มีการประกาศให้ใช้ พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติดฯ ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งประมวลกฎหมายยาเสพติดฯ ฉบับใหม่นั้นให้อำนาจรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขสามารถระบุชื่อยาเสพติดให้โทษได้ อนุทิน จึงออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 โดยไม่ได้รวมส่วนของพืชกัญชา เช่น ดอก กิ่ง ก้าน ราก ใบ เข้าเป็นยาเสพติดให้โทษ แต่เฉพาะสารสกัดจากทุกส่วนของพืชกัญชาหรือกัญชงที่มี THC เกิน 0.2% และไม่ได้รับอนุญาตให้สกัด หรือสารสกัดจากเมล็ดกัญชากัญชงที่ปลูกในต่างประเทศ ที่ยังถือเป็นยาเสพติดให้โทษ โดยประกาศดังกล่าวมีผลใช้บังคับเมื่อพ้น 120 วันหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา
แต่หลังวันที่ 9 มิถุนายน 2565 เมื่อพืชกัญชาและกัญชงถูกปลดล็อกไปแล้ว แต่กลับไม่มีกฎกระทรวง หรือกฎหมายย่อยใดๆ เข้ามาควบคุมการใช้ประโยชน์ทางสันทนาการ ทั้งอายุของผู้ครอบครอง การซื้อขาย หรือการควบคุมการใช้ส่วนของกัญชานอกเหนือจากจุดประสงค์ทางการแพทย์เกิดเป็น ‘สุญญากาศทางกฎหมาย’
เมื่อถูกวิจารณ์หนักเข้า อนุทิน จึงออกประกาศปาหี่ตบตาประชาชน แสร้งว่ามีการควบคุมแล้ว ด้วยประกาศเป็นเหตุรำคาญ ซึ่งไม่มีสภาพบังคับใช้จริง และประกาศเป็นสมุนไพรควบคุม ซึ่งห้ามสูบในที่สาธารณะ ห้ามจำหน่ายให้กับคนอายุต่ำกว่า 20 ปี และห้ามใช้กับสตรีมีครรภ์เท่านั้น ไม่ได้ห้ามการใช้เพื่อสันทนาการและการใช้เพื่อจุดประสงค์อื่นๆ นอกเหนือจากเพื่อการแพทย์อีกเหมือนเดิม
นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ตั้งข้อสังเกตในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ อนุทิน ชาญวีรกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ว่า อนุทิน จงใจสร้างสุญญากาศทางกฎหมาย เพราะในระหว่างที่ปลดล็อกกัญชาอย่างแข็งขัน กลับเพิ่งยื่น ร่าง พ.ร.บ. กัญชา กัญชง เข้าสภาในวันที่ 26 มกราคม 2565 ทั้งที่ก็รู้กระบวนการว่าร่างฯ เกี่ยวด้วยการเงินต้องส่งให้นายกรัฐมนตรีในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ เมื่ออนุมัติและส่งกลับมาที่สภาก็ปิดสมัยประชุม ทำให้เพิ่งจะได้บรรจุเข้าวาระปลายเดือนพฤษภาคม และรัฐสภาพิจารณาตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณากฎหมายในวันที่ 8 มิถุนายน 2565 หรือเพียง 1 วันก่อนครบกำหนด 120 วันที่จะถอดกัญชาออกจากยาเสพติดฯ
“ทำไมท่านไม่แก้ไขประกาศสาธารณสุขวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ยืดระยะเวลาออกไปจาก 120 วัน แค่นั้นเอง หรือหลังจากวันที่ 8 กุมภาพันธ์เห็นแล้วว่ากฎหมายผ่านไม่ทัน ท่านก็แค่ยกเลิกประกาศให้ใช้ประกาศเดิม รอจนกว่าจะมีกฎหมายควบคุมกัญชาแต่ท่านไม่ทำ” นพ. วาโย กล่าว
แล้วหลุมดำทางกฎหมายนี้ทำขึ้นมาเพื่อใคร? ที่ผ่านมา อนุทิน ส่งเสริมการผลิตกัญชา โดยผูกให้วิสาหกิจชุมชน 1 แห่งทำร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) 1 แห่งเท่านั้น และให้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นผู้รับซื้อ แต่สุดท้าย อย. ไม่ได้รับซื้อในจำนวนที่คาดไว้ เพราะหมอไม่ใช้ นักวิจัยไม่เขียนโครงการ จึงต้องหาช่องทางปล่อยของ ให้นายทุนได้กอบโกยให้มากที่สุดในช่วงสุญญากาศนี้
อีกทางหนึ่ง ก็ยังตั้ง KPI หรือเกณฑ์วัดผลของกระทรวงสาธารณสุขให้โรงพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) และสังกัดกรมวิชาการ รวมถึงสถานพยาบาลเอกชนจะต้องมีคลินิกกัญชาทางการแพทย์ให้ได้จำนวนตามเป้า ซึ่งจะเพิ่มดีมานด์กัญชาเพื่อการแพทย์อีกด้วย
นพ. วาโย ย้ำว่า พรรคก้าวไกลสนับสนุนการปลดล็อกกัญชาทั้งทางการแพทย์และเพื่อสันทนาการ แต่จำเป็นต้องมีการควบคุมอย่างเหมาะสม เพราะแม้กัญชาจะมีประโยชน์ในการรักษาบางโรค แต่ก็มีหลักฐานยืนยันโทษของกัญชาเช่นกัน โดยเฉพาะกับพัฒนาการของเด็กและเยาวชน และการไม่ควบคุมกัญชายังอาจกระทบกับการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจไทยมหาศาลอีกด้วย