เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 65 ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ปฏิบัติราชการในหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานประสานงานกระบวนการยุติธรรม สถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุดได้ให้ความเห็นข้อกฎหมายผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ว่า
เรื่องกฎหมายให้อำนาจสอดแนมข้อมูลสมาร์ทโฟน ความว่า ตามที่มีข่าวปรากฏตามสื่อมวลชนว่า มีการใช้ สปายแวร์ “เพกาซัส” ในการสอดแนมข้อมูลของบุคคลบางกลุ่มบางคน เช่น นักกิจกรรมทางการเมือง โดยเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งทางฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐได้ออกมาชี้แจงว่าไม่เป็นความจริงนั้น
ในแง่ของกฎหมาย การที่เจ้าหน้าที่รัฐจะใช้สปายแวร์เพกาซัส หรือเครื่องมืออื่นใดในการสอดแนมข้อมูลในโทรศัพท์มือถือ หรือสมาร์ทโฟนของบุคคลใดจำเป็นจะต้องอาศัยกฎหมายเป็นฐานอำนาจในการดำเนินการด้วย
สำหรับกฎหมายที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐเข้าถึงข้อมูลในโทรศัพท์มือถือ หรือสมาร์ทโฟนในปัจจุบันนี้มีจำนวนหลายฉบับ จึงเป็นเรื่องที่ประชาชนคนไทยควรต้องทราบว่ามีกฎหมายใดบ้างที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐเข้าถึงข้อมูลในโทรศัพท์มือถือได้ ซึ่งได้แก่กฎหมาย 8 ฉบับ ดังต่อไปนี้
1. พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ.2556 มาตรา 17 พนักงานสอบสวนซึ่งได้รับอนุมัติจากอัยการสูงสุด ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมาย แล้วแต่กรณี มีอำนาจยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาเพื่อให้มีคำสั่งอนุญาตได้
2. พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 30 พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับอนุมัติเป็นหนังสือจากผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือผู้ว่าราชการจังหวัด มีอำนาจยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่อศาลอาญาหรือศาลจังหวัดที่มีเขตอำนาจเพื่อให้มีคำสั่งอนุญาตได้
3. พระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 มาตรา 25 พนักงานสอบสวนคดีพิเศษซึ่งได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นหนังสือ มีอำนาจยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาเพื่อให้มีคำสั่งอนุญาตได้
4. พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 11/5 เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ซึ่งได้รับอนุมัติจากเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดเป็นหนังสือ มีอำนาจยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่อศาลอาญาเพื่อให้มีคำสั่งอนุญาตได้
5. พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 46 พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินมอบหมายเป็นหนังสือ มีอำนาจยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่อศาลแพ่งเพื่อให้มีคำสั่งอนุญาตได้
6. พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 18 และมาตรา 19 พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจเพื่อให้มีคำสั่งอนุญาตได้
7. พระราชบัญญัติข่าวกรองแห่งชาติ พ.ศ.2562 มาตรา 6 สำนักข่าวกรองแห่งชาติมีอำนาจใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ เครื่องโทรคมนาคม หรือเทคโนโลยีอื่นใด เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลในโทรศัพท์มือถือได้ โดยเป็นไปตามระเบียบที่ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติกำหนดโดยความเห็นชอบของนายกรัฐมนตรี โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการกลั่นกรองและตรวจสอบการใช้อำนาจจากศาล
8. พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มาตรา 11(5) เมื่อนายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีได้ประกาศให้สถานการณ์ฉุกเฉินเป็นสถานการณ์ที่มีความร้ายแรงแล้ว นายกรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งตรวจสอบข้อมูลในโทรศัพท์มือถือได้ โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการกลั่นกรองและตรวจสอบจากศาล
อนึ่ง มีข้อสังเกตว่า กฎหมายที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐในการเข้าถึงข้อมูลในโทรศัพท์มือถือ หรือสมาร์ทโฟนทั้ง 8 ฉบับดังกล่าวข้างต้นนี้ กฎหมาย จำนวน 6 ฉบับ กำหนดให้ต้องมีคำสั่งอนุญาตจากศาลก่อน คงมีแต่กฎหมาย 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.ข่าวกรองแห่งชาติ และ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่กำหนดให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถเข้าถึงข้อมูลได้โดยไม่จำต้องมีคำสั่งอนุญาตจากศาล