เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 65 เพจเฟซบุ๊ก “อีซ้อขยี้ข่าว” โพสต์เรื่องราวระบุว่า “วัยรุ่นลิ้นฟ้า…ระบาดอย่างหนักในวัยรุ่นกับการใช้ยาชนิดหนึ่งซึ่งฤทธิ์แรงมากกว่ายาบ้า ยาไอซ์ ใช้เกิน 1 เม็ดเสียชีวิตไปแล้วหลายคน ตอนนี้วางขายเกลื่อนว่อนเน็ต แผงหนึ่งไม่ถึงร้อย ออกฤทธิ์แรงช่วยให้เคลิบเคลิ้ม ล่องลอย เกิดภาพหลอน รู้สึกดีเมื่อมีคนสัมผัส เกิดอารมณ์ ไม่ยิ้มไม่หัวเราะ หากเสพหนักเท่ากับนัดยมทูตมาสนุกด้วยโดยไม่ต้องรอจบงานก็รับตัวไป”
ยาลิ้นฟ้ากลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้งหลังมีข่าววัยรุ่นอายุ 25 ปี ใช้อาวุธปืนยิงถล่ม 16 นัด จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิต ในพื้นที่ สน.หนองค้างพลู เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม ที่ผ่านมา โดยวัยรุ่นรายนี้มีพฤติกรรมชอบใช้ความรุนแรง และชอบเคี้ยวยาโรฮิบนอล 542 หรือยาลิ้นฟ้าตลอดเวลา จนเกิดอาการหลอน ทำให้กลุ่มเพื่อนไม่อยากคบด้วย จนมีเรื่องขัดแย้งกันจนนำไปสู่การก่อเหตุยิง
นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวถึงยา โรฮิบนอล 542 หรือ ยาลิ้นฟ้า ว่าเป็นชื่อการค้าของยาในกลุ่มฟลูนิแทรซิแพม (Flunitrazepam) จัดอยู่ในกลุ่มวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ถือเป็นยาควบคุม ไม่มีขายทั่วไป รวมถึงในร้านขายยา ยาชนิดนี้ที่พบเห็นขายออนไลน์อาจเป็นการนำยาชนิดอื่นมาผสม ใส่สีให้เหมือนแล้วอ้างว่าเป็นยาโรฮิบนอล ทั้งนี้ยังคงต้องเฝ้าระวังต่อไปว่าเป็นยาจริงหรือไม่
ข้อมูลจากกองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาระบุว่า โรฮิบนอล (Rohypnol) มีชื่อทางเคมี flunitrazepam มีฤทธิ์บรรเทาอาการวิตกกังวล สงบประสาท ทำให้นอนหลับ สูญเสียความทรงจำชั่วขณะ คลายกล้ามเนื้อ ต้านการชัก และกดระบบการหายใจ จึงถูกนำมาใช้ในทางการแพทย์ เพื่อเป็นยานอนหลับ ยานำสลบ และสงบประสาทก่อนทำการผ่าตัด ในบางประเทศยาชนิดนี้ถือเป็นยาผิดกฎหมาย เนื่องจากมีรายงานถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด
ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ระบุว่า โรฮิบนอล (Rohypnol) หรือชื่อสามัญทางยา คือ funitrazepam จัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 พ.ศ. 2565 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด
บทกำหนดโทษตามประมวลกฎหมายยาเสพติด หากจำหน่ายวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 โดยไม่ได้รับอนุญาต คือจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 7 แสนบาท
หากโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
หากเสพโดยไม่ได้รักษาโรคตามคำสั่งของผู้ประกอบวิชาชีพ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
และผู้ใดที่จูงใจ ชักนำ ยุยงส่งเสริม ใช้อุบายหลอกลวง ขู่เข็ญ ใช้กำลังบังคับ ให้ผู้อื่นเสพวัตถุออกฤทธิ์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ