20 ส.ค. 65 – ผนึกกำลัง 4 หน่วยงาน ประกอบด้วย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และกรมป่าไม้ ร่วมกันค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลกในสกุลเครือเขาหนัง (Phanera) จากประเทศไทย พืชชนิดนี้มีชื่อไทยที่เป็นที่รู้จักกันมานานว่า “กำลังช้างเผือก”
“กำลังช้างเผือก” มีชื่อพฤกษศาสตร์ที่เพิ่งถูกตีพิมพ์ว่า Phanera mekongensis Mattapha, Suddee & Duangjai ได้ตีพิมพ์ตามกฎเกณฑ์ทางพฤกษศาสตร์ในวารสารนานาชาติ Blumea เล่มที่ 67 หน้าที่ : 113 – 122 ปี พ.ศ. 2565
ผศ. ดร.สไว มัฐผา อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ผู้เชี่ยวชาญพรรณไม้วงศ์ถั่ว (Fabaceae) ร่วมกับ ผศ. ดร.สุธีร์ ดวงใจ ผู้เชี่ยวชาญพรรณไม้ อาจารย์ประจำคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นายสมราน สุดดี ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านอนุกรมวิธานพืชจากสำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และนายวิทวัส เขียวบาง นักวิชาการป่าไม้จากสำนักเศรษฐกิจการป่าไม้ ร่วมกันตีพิมพ์พืชชนิดใหม่ของโลก กำลังช้างเผือก
การค้นพบพืชชนิดใหม่นี้เริ่มจากเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2550 นายทวี แก้วพวง อดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว จังหวัดบึงกาฬ ได้เก็บตัวอย่างกำลังช้างเผือกซึ่งได้ปลูกไว้ในสวนสมุนไพร มาให้นักพฤกษศาสตร์หอพรรณไม้ทำการตรวจสอบชนิด แต่ไม่สามารถตรวจสอบได้ นำมาซึ่งการติดตามเก็บตัวอย่างดอกผลและการสำรวจในภาคสนาม จากการสำรวจในภาคสนามอย่างละเอียดและต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี ไม่พบพืชชนิดนี้ในป่าธรรมชาติแถบนั้น อาจเนื่องมาจากพืชชนิดนี้ถูกตัดทิ้งจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวในพื้นที่ เช่น ยางพารา อ้อย มันสำปะหลัง เป็นต้น
จากการสอบถามได้ความว่าพืชชนิดนี้เป็นสมุนไพรบำรุงกำลังที่ใช้กันมานาน เมล็ดที่ปลูกถูกนำจากพื้นที่ริมแม่น้ำโขงที่ไม่ทราบแหล่งแน่ชัด และต่อมาได้มีการนำเมล็ดไปปลูกในที่ต่าง ๆ รวมทั้งกรุงเทพมหานครด้วย
พืชชนิดนี้อาจยังมีการกระจายพันธุ์ในธรรมชาติในบางพื้นที่ ที่นักพฤกษศาสตร์ยังไม่สำรวจพบก็เป็นไปได้ ในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬและพื้นที่ภูเขาควายและเขากระดิง ในเขต สปป. ลาว ที่อยู่ตรงข้ามเพราะมีสภาพป่าและระบบนิเวศที่คล้ายกันจากการศึกษาตัวอย่างใบ ดอก ผล และเมล็ด อย่างละเอียด พร้อมกับการศึกษาทางชีวโมเลกุลพบว่าเป็นพืชชนิดใหม่ของโลกในสกุลเครือเขาหนัง (Phanera) วงศ์ถั่ว (Fabaceae) จึงได้ร่วมเขียนตีพิมพ์ภายใต้ชื่อพฤกษศาสตร์ Phanera mekongensis Mattapha, Suddee & Duangjai คำระบุชนิด “mekongensis” หมายถึงลุ่มแม่น้ำโขง แหล่งที่พบ ตัวอย่างต้นแบบหมายเลข Suddee, Puudjaa, Hemrat & Kiewbang 5390 เก็บรักษาไว้ที่หอพรรณไม้
การตรวจสอบและการยืนยันชนิดค่อนข้างยากลำบากสำหรับพืชที่ไม่ทราบแหล่งที่มาแน่ชัด เพื่อความถูกต้องมากที่สุดว่าไม่เคยมีการค้นพบและตีพิมพ์ชนิดนี้มาก่อน ทีมผู้วิจัยได้ตรวจสอบอย่างละเอียด พบว่าพืชชนิดนี้มีลักษณะบางประการที่คล้ายคลึงเล็กน้อยกับชนิดที่พบแถบยูนนาน ในประเทศจีน ได้แก่ ใบ รูปทรงของดอก รูปร่างกลีบดอก แต่เมื่อพิจารณาลักษณะอื่น ๆ เพิ่มเติม พบว่า ทั้ง ๒ ชนิดมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ได้แก่ ลักษณะปลายใบ รูปร่างดอกตูม สีดอก ขนาดของเกสรเพศผู้และเกสรเพศเมีย รวมถึงการที่มีฝักเกลี้ยง การศึกษาทางด้านชีวโมเลกุลยังช่วยยืนยันความใกล้ชิดกับชนิดในสกุลเดียวกัน
ข้อมูล/รูปภาพจาก : หอพรรณไม้ Forest Herbarium – BKF