ดร.อนันต์เผยเคสแรก! ในอิตาลี ผู้ป่วยติด “ฝีดาษลิง โควิด HIV”

148

เมื่อวันที่ 21 ส.ค.65 ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์ และการจัดการศูนย์พันธุวิศวกรรม และเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กประเด็นเกี่ยวกับ “เคสแรกของผู้ป่วยฝีดาษลิง-โควิด-HIV-1 ในอิตาลี” ระบุว่า

เคสแรกของผู้ป่วยฝีดาษลิง-โควิด-HIV-1 ในอิตาลี
วารสารวิชาการ Journal of Infection ได้รายงานเคสของผู้ป่วยฝีดาษลิงรายหนึ่งที่มีประวัติเดินทางกลับมาจากประเทศสเปน โดยขณะที่อยู่ที่นั่นได้มีกิจกรรมทางเพศแบบชายรักชายแบบไม่ป้องกัน 9 วันหลังเดินทางกลับเริ่มมีอาการนำ ประกอบด้วย ไข้ อ่อนเพลีย เจ็บคอ ปวดศีรษะ และ ต่อมน้ำเหลืองโต 3 วันหลังอาการนำเริ่มมีผื่นแดงขึ้นที่ผิวหนัง และ ในวันเดียวกันตรวจพบเชื้อ SARS-CoV-2 ในตัวผู้ป่วยด้วยเช่นกันด้วย ATK หลังจากนั้น 3 วันผู้ป่วยเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลโดยในวันที่ admit ตุ่มหนองบนร่างกายบริเวณ แขน ลำตัว ฝ่ามือ นิ้ว ขา สะโพกปรากฏชัดมากและ 1 วันหลังจากนั้นผลการตรวจจากห้องปฏิบัติการที่โรงพยาบาลยืนยันว่าผู้ป่วยรายนี้มีเชื้อฝีดาษลิงสายพันธุ์ที่ระบาดในสเปน และ มีไวรัส SARS-CoV-2 สายพันธุ์ BA.5.1 และ นอกจากนั้นยังมีเชื้อ HIV-1 อยู่ในร่างกาย (234,000 copies/mL) ด้วย เนื่องจากปริมาณเม็ดเลือดขาว CD4 ของผู้ป่วยรายนี้ยังอยู่ในระดับปกติ (812 cells/μL) ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่า ผู้ป่วยรับเชื้อ HIV มาก่อนหน้านี้ไม่นาน และ ไม่รู้ตัวว่าตัวเองมีเชื้ออยู่ (ครั้งสุดท้ายที่ตรวจคือ เดือน กันยายน ปีที่แล้วและได้ผลลบ)

ผู้ป่วยอยู่โรงพยาบาล 6 วัน ผลตรวจยังพบออกมาเป็นบวกทั้งฝีดาษลิงและโควิด แต่อาการป่วยทุเลาลงมากแล้ว เหลือแต่อาการทางผิวหนังที่ยังอยู่ในช่วงกำลังจะเริ่มตกสะเก็ด หมอจึงให้ไปรักษาตัวต่อที่บ้าน หลังจากนั้น 2 วัน ผล ATK ที่ตรวจที่บ้านก็เป็นลบ แต่ตุ่มหนองยังพบได้อยู่ 8 วันหลังจากมาอยู่ที่บ้าน ตุ่มหนองแทบจะตกสะเก็ดหมดแล้ว (รูป H) คุณหมอนัดให้มาตรวจอีกครั้ง โดยตรวจจากตัวอย่างจากคอ ผลตรวจพบว่า ผู้ป่วยยังคงเป็นบวกต่อไวรัสฝีดาษลิงอยู่ แต่ยังไม่มีข้อมูลว่าตัวอย่างที่ตรวจสามารถนำไปเพาะเชื้อต่อขึ้นหรือไม่ รวมเวลาที่นับจากวันที่กลับจากสเปนถึงวันที่ที่ตรวจครั้งสุดท้ายคือ 29 วัน

ผู้ป่วยรายนี้มีประวัติฉีดวัคซีน Pfizer 2 เข็ม ตั้งแต่เมื่อปลายปีที่แล้ว พอต้นปีเขาติดโควิดซึ่งน่าจะเป็นสายพันธุ์ BA.1 การติดครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ด้วยสายพันธุ์ BA.5.1 ซึ่งอาจจะหนีภูมิจาก BA.1 ได้ดี และ ภูมิได้รับมามากกว่า 6 เดือนแล้ว จากรายงานที่พบ ATK เป็นบวกในเวลาใกล้ๆกับที่มีผื่นขึ้น อนุมานได้ว่าผู้ป่วยรายนี้น่าจะได้รับเชื้อฝีดาษลิงมาก่อน และ ได้รับเชื้อ SARS-CoV-2 มาในช่วงระยะฟักตัวของฝีดาษลิง เนื่องจาก โควิดมีระยะฟักตัวที่สั้นกว่า อาการนำอะไรต่างๆจึงเกิดขึ้นมาพร้อมๆกัน จนแยกไม่ออกว่าอาการที่เห็นมาเป็นผลมาจากเชื้อไหนกันแน

*** สำหรับผู้ที่อาจสงสัยว่าโควิดกับฝีดาษลิงจะผสมกันเป็นไวรัสตัวใหม่ได้หรือไม่ ต้องตอบว่า เป็นไปไม่ได้แน่นอนครับ โควิดเป็นไวรัสที่มี RNA เป็นสารพันธุกรรม แต่ ฝีดาษลิงเป็น DNA ดังนั้นไวรัสสองชนิดนี้คุยกันไม่รู้เรื่องครับ