การรถไฟฯ เผยโฉมรถไฟญี่ปุ่น KIHA 183 หลังปรับปรุงใหม่ เตรียมเปิดให้บริการปลายปี 2565 เสริมศักยภาพในการเดินทางและการท่องเที่ยวภายในประเทศ

516

การรถไฟฯ เผยโฉมรถดีเซลรางปรับอากาศ KIHA 183 ปรับปรุงใหม่ พร้อมทดลองให้บริการเดินรถจากสถานีมักกะสัน-ฉะเชิงเทรา-กรุงเทพ ก่อนเปิดให้บริการปลายปี 2565 เสริมศักยภาพในการเดินทาง และการท่องเที่ยวภายในประเทศ

เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2565 ณ โรงงานมักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพฯ นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย นำคณะสื่อมวลชน เยี่ยมชมความก้าวหน้าการปรับปรุงรถดีเซลรางปรับอากาศ รุ่น KIHA 183 พร้อมกับทดลองเปิดเดินรถจากสถานีมักกะสัน-ฉะเชิงเทรา-กรุงเทพ ก่อนเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวช่วงปลายปี 2565 เพื่อเสริมศักยภาพในการเดินทาง และส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ

abP2zv.jpg

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่การรถไฟฯ ได้รับมอบรถดีเซลรางปรับอากาศ รุ่น KIHA 183 จากบริษัท Hokkaido Railway Company (JR HOKKAIDO) ประเทศญี่ปุ่น มาจำนวน 17 คัน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งประกอบด้วย รถดีเซลรางปรับอากาศ แบบมีห้องขับสูง (High Cab) 40 ที่นั่ง จำนวน 8 คัน รถดีเซลรางปรับอากาศ แบบไม่มีห้องขับ 68 ที่นั่ง จำนวน 8 คัน และรถดีเซลรางปรับอากาศ แบบมีห้องขับต่ำ (Low Cab) 52 ที่นั่ง จำนวน 1 คัน และได้มีการส่งมอบรถมาถึงเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2564 เพื่อทำการดัดแปลงเป็นตู้รถไฟ สำหรับให้บริการแก่ประชาชน และส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศนั้น

ล่าสุด การรถไฟฯ โดยฝ่ายการช่างกล ได้ดำเนินการปรับปรุงรถดีเซลรางปรับอากาศ รุ่น KIHA 183 เสร็จสมบูรณ์แล้ว 3 คัน พร้อมกับได้นำมาเปิดทดลองเดินรถจากเส้นทางสถานีมักกะสัน – ฉะเชิงเทรา – กรุงเทพ เป็นครั้งแรก โดยมีคณะสื่อมวลชนร่วมทดลองใช้บริการ ประกอบด้วย รถดีเซลรางปรับอากาศ แบบมีห้องขับสูง จำนวน 2 คัน และรถดีเซลรางปรับอากาศ แบบไม่มีห้องขับ จำนวน 1 คัน ซึ่งการทดลองเป็นไปด้วยความเรียบร้อยดี สามารถใช้ความเร็วสูงสุดได้ 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งภายหลังจากทดสอบประสิทธิภาพขบวนรถชุดแรกแล้วเสร็จ การรถไฟฯ จะเร่งปรับปรุงรถคันอื่นที่เหลือ เพื่อเปิดให้บริการได้เต็มรูปแบบในช่วงปลายปี 2566

abPunN.jpg

สำหรับการปรับปรุงรถดีเซลรางปรับอากาศ รุ่น KIHA 183 การรถไฟฯ ได้มีการปรับขนาดความกว้างของล้อจาก 1.067 เมตร ให้เป็นขนาด 1 เมตร ตามมาตรฐานทางรถไฟไทย รวมถึงได้ทำการทดสอบสมรรถนะของรถ โดยวางแผนปรับปรุงรถเป็น 4 ชุดๆ ละ 4 คัน โดยคำนึงถึงความเหมาะสมในการใช้งาน ควบคู่กับการรักษาเอกลักษณ์กลิ่นอายความเป็นญี่ปุ่น

ทั้งนี้ ในระยะแรก การรถไฟฯ ได้ปรับปรุงภายในรถใหม่ โดยมีการตรวจสอบระบบการทำงานของเครื่องยนต์ ระบบห้ามล้อ ระบบไฟฟ้า ระบบปรับอากาศ รวมถึงทำความสะอาดภายใน ซักล้างเบาะที่นั่ง ผ้าม่าน ปรับปรุงป้ายสัญลักษณ์ภายในจากภาษาญี่ปุ่นให้มีภาษาอังกฤษเพิ่มเติม พร้อมระบบห้องสุขา โดยได้ทดลองระบบการทำงานแบบเสมือนจริงทั้งหมด อีกทั้งยังได้ดัดแปลง ชุดหัวท่อเติมน้ำใช้ และชุดหัวสูบถ่ายจากถังเก็บสิ่งปฏิกูลให้สามารถใช้ร่วมกับรถโดยสารประเภทชุดด้วย

abPrKQ.jpg

ขณะที่การปรับปรุงภายนอกตัวรถ มีการดัดแปลง และปรับปรุงนำโคมไฟส่องทางด้านบนของตัวรถออก เนื่องจากเกินเขตโครงสร้างของรถ (Loading Gauge) และได้ย้ายไฟมาติดตั้งที่หน้ารถแทน บริเวณซ้ายและขวาจำนวน 2 ดวง ตลอดจนดัดแปลงบันไดให้สามารถขึ้น-ลงได้กับชานชาลาต่ำได้ รวมถึงปรับสภาพผิวตัวรถภายนอกโดยได้ขัดทำสีใหม่ ด้วยการใช้น้ำยาลอกสีแทนการใช้ความร้อน เพื่อไม่ให้เป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังคงใช้เฉดสีเดิมเพื่อคงกลิ่นไอความเป็นญี่ปุ่นอยู่

ส่วนแผนการปรับปรุงรถระยะที่ 2 การรถไฟฯ ได้วางแผนการซ่อมบำรุงใหญ่ เพื่อเพิ่มสมรรถนะให้บริการเดินรถได้ในระยะยาว อาทิ การเปลี่ยนล้อ เพลาใหม่ พร้อม Bearing เปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่ เปลี่ยนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าใหม่ เปลี่ยนเครื่องทำลมอัด (Air Compressor) ใหม่ ปรับปรุงระบบปรับอากาศ ปรับปรุงระบบไฟแสงสว่างเป็น 220 V. และระบบไฟฟ้าทั้งหมดเป็น 380 v. / 220 v. 50 Hz โดยคาดว่าจะสามารถดำเนินการครบทุกคัน ประมาณ 2 ปี

ทั้งนี้ ภายหลังจากปรับปรุงขบวนรถ KIHA 183 เสร็จครบถ้วน การรถไฟฯ จะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเพื่อกำหนดเส้นทางให้บริการ โดยจะเริ่มให้บริการในเส้นทางระยะสั้น แบบวันเดย์ทริป ขบวนสำหรับเทศกาลในวันสำคัญ หรือให้บริการเช่าเหมาขบวนก่อน เพื่อตอบสนองความต้องการและเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้บริการสูงสุด ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในเดือนธันวาคม 2565

“การรถไฟฯ มุ่งหวังว่า การเปิดให้บริการขบวนรถดีเซลรางปรับอากาศ รุ่น KIHA 183 นี้ จะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ นักท่องเที่ยวได้มีโอกาสเปิดประสบการณ์เดินทางใหม่ๆ นอกจากนี้ ยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว ตลอดจนสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับพี่น้องประชาชนในชุมชนพื้นที่ใกล้เคียงทางรถไฟ ให้มีรายได้เพิ่มขึ้น เป็นการช่วยกระจายรายได้ และสร้างความเข้มแข็งต่อเศรษฐกิจฐานรากได้อย่างยั่งยืนต่อไป”

abPPak.jpg
abPCxE.jpgabPnWV.jpgabP8PS.jpg
abPHen.jpg