เมื่อวันที่ 18 ก.ย.65 นพ.สมิทธิ์ ศรีสนธิ์ แพทย์นิติเวช โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยถึงแถลงการณ์จากแพทย์ทั่วประเทศ 1,363 คน ที่ต้องการให้ปิดสุญญากาศของกัญชาเสรี โดยระบุว่า ตอนนี้ชัดเจนว่า พ.ร.บ. กัญชา กัญชง ไม่มีทางออกเป็นกฎหมายทันรัฐบาลสมัยนี้ ดังนั้นกัญชาจะอยู่ในสภาพสุญญากาศ ที่ไม่มีอะไรควบคุมเป็นเวลานาน มีผลเสียอย่างร้ายแรง ตอนนี้การออกกฎหมายใดๆ ไม่ช่วยแน่นอน นอกจากจะออกกฎหมายให้ย้อนกลับไปให้กัญชาไม่ใช่ยาเสพติด แล้วเรารอ ให้มีกฎหมาย พ.ร.บ. ควบคุมที่ชัดเจน ค่อยปลดล็อกกัญชาจะถูกกว่า
นอกจากนี้ในส่วนตัวขอเรียกร้องให้ผู้ที่ดูแลนโยบายเรื่องนี้หยุดอ้างว่า การปลดกัญชาออกจากยาเสพติด เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.65 ทำเพื่อให้ใช้กัญชาได้อย่างเสรีในทางการแพทย์ เพราะการใช้กัญชาทางการแพทย์ สามารถใช้มาได้นานแล้วตั้งแต่ปี 62 แต่การปลดครั้งนี้ ทำให้ประชาชนเอามาใช้ทางสันทนาการได้อย่างชัดเจน เช่น ตามที่เห็นจากข่าวมากมายที่มีการขายในลักษณะให้เสพโดยการสูบเพื่อสันทนาการ นอกจากนี้ผู้ที่ดูแลนโยบายยังสนับสนุนการใช้เพื่อสันทนาการอย่างชัดเจนคือ การนำกัญชามาปรุงเป็นอาหาร หรือการอนุญาตให้ขายขนมหรือน้ำผสมกัญชา
พร้อมชวนให้แพทย์ที่สนใจให้ร่วมลงรายชื่อเพิ่ม ได้ที่ https://docs.google.com/…/1FAIpQLScO1afLrj61Zb…/viewform
จากหนังสือการแถลงของแพทย์ทั่วประเทศไทย ระบุว่า เนื่องจากประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภทที่ 5 พ.ศ.2565 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย.65 กำหนดให้พืชกัญชาไม่เป็นยาเสพติด แต่ ณ ปัจจุบันยังคงไม่มีนโยบายควบคุมการใช้กัญชารวมถึงแนวทางการบังคับใช้กฎหมายในการควบคุมอย่างครอบคลุมและปลอดภัยจนอาจเรียกได้ว่าประเทศไทยมีเสรีกัญชามากที่สุดในโลกมายาวนานกว่า 3 เดือนแล้ว ส่งผลให้มีการใช้กัญชาเชิงนันทนาการอย่างแพร่หลายในชุมชน นำไปสู่การเข้าถึงการใช้กัญชาของเด็กและกลุ่มเปราะบาง แพทย์ทั่วประเทศไทยตามรายชื่อแนบ 1,363 รายชื่อ ในฐานะบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศไทยเล็งเห็นถึงความรุนแรงและเร่งด่วนของปัญหาที่เกิดขึ้น จึงขอสนับสนุนข้อเสนอเกี่ยวกับนโยบายกัญชาของประเทศไทยโดยแพทยสภา แพทยสมาคม ราชวิทยาลัยต่างๆ ที่ออกประกาศในวันที่ 5 ก.ย.65
รวมทั้งขอเรียกร้องให้รัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องปิดภาวะกัญชาเสรีในทันที โดยไม่ควรรอการประกาศใช้ พ.ร.บ.ควบคุมกัญชาและกัญชงที่จะมีในอนาคต เนื่องจากต้องใช้เวลาในพิจารณาข้อกฎหมายตามระบบระเบียบเป็นเวลานานและการรั้งรอจะยิ่งสร้างความเสียหายต่อเนื่องกับประเทศชาติในวงกว้าง จึงควรพิจารณาหยุดภัยคุกคามทางสาธารณสุขครั้งนี้โดยเร็วที่สุด และดำเนินการโดยคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนตามหลักการ ‘Primum non nocere / First, do no harm’ เป็นสำคัญ