เปิดวิธีรับมือพายุ-น้ำท่วม “พายุโนรู” เพื่อความปลอดภัย ลดอันตราย

540

27 ก.ย. 65 – กรมอุตุฯ เตือนทั่วทุกภาคของประเทศเจอฝนตกหนัก ระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก คาดพายุโนรูเข้าไทย วันที่ 29 กันยายน 2565 โดยจะเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลางของประเทศไทยในวันที่ 29 กันยายน 2565 ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย จะมีกำลังแรงขึ้น ส่งผลทำให้ในช่วงวันที่ 28 กันยายน – 1 ตุลาคม 2565 มีฝนตกหนักหลายพื้นที่และมีฝนตกหนักมากบางแห่งกับมีลมแรงบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้

ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยในการเตรียมรับมือพายุ และอาจเกิดน้ำท่วมในบางพื้นที่ จึงควรมีการป้องกันเพื่อลดความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้ ดังนี้

การรับมือพายุ ลดเสี่ยงอันตราย (ข้อมูล : กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย)

เตรียมพร้อมรับมือ
1. ติดตามพยากรณ์อากาศ
2. ตรวจสอบอาคารบ้านเรือนให้มั่นคง แข็งแรง
3. จัดเก็บสิ่งของที่ปลิวลมได้ในที่มิดชิด
4. ตัดแต่งกิ่งไม้และต้นไม้ที่เสี่ยงต่อการหักโค่น
5. พบเห็นเสาไฟฟ้าหรือป้ายโฆษณาไม่แข็งแรงให้รับแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กรณีอยู่ในอาคาร
1. ไม่อยู่บริเวณดาดฟ้าหรือระเบียง เพราะเสี่ยงถูกฟ้าผ่า
2. ปิดประตูและหน้าต่างให้มิดชิด ป้องกันอันตรายจากลมแรง
3. งดใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า โทรศัพท์มือถือ ป้องกันการถูกฟ้าผ่า

กรณีอยู่กลางแจ้ง
1. อยู่ห่างจากสิ่งก่อสร้างที่ไม่มั่นคงแข็งแรง ป้องกันการถูกล้มทับ
2. ไม่อยู่ใกล้วัตถุที่เป็นสื่อนำไฟฟ้า ซึ่งเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่า
3. งดใช้เครื่องมือสื่อสารและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ลดเสี่ยงการถูกฟ้าผ่า

p1uBl2.jpg

วิธีรับมือน้ำท่วมอย่างปลอดภัย (ข้อมูล : กรมอนามัย)

1. ติดตามข่าวสาร สถานการณ์น้ำท่วมอย่างใกล้ชิด
2. ยกสิ่งของขึ้นบนที่สูง
3. รู้หมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉินของหน่วยงานท้องถิ่น
4. เรียนรู้เส้นทางการอพยพไปที่ปลอดภัยและใกล้บ้านที่สุด
5. เตรียมโทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์ทำอาหาร อาหารแห้ง น้ำดื่มสะอาด ยารักษาโรคและอุปกรณ์สิ่งจำเป็นต่างๆ ให้พร้อม
6. หากอยู่ในพื้นที่เสี่ยง ควรเตรียมกระสอบทราย เพื่อใช้อุดปิดช่องทางที่น้ำจะไหลเข้าบ้าน
7. นำรถยนต์และพาหนะไปจอดไว้ในพื้นที่น้ำท่วมไม่ถึง
8. ปิดเครื่องใช้ไฟฟ้า เตาแก๊ส ยกเบรกเกอร์ ปิดบ้านให้เรียบร้อยก่อนออกจากบ้าน
9. เขียนหรือระบุฟิวส์หรือเบรกเกอร์ว่าตัวใดใช้ควบคุมการใช้ไฟจุดใดในบ้าน
10. หากเกิดน้ำท่วมฉับพลัน ไม่ควรขับรถฝ่าทางน้ำหลาก ให้ออกจากรถและไปอยู่ในที่สูงทันที

การดูแลใส่ใจเด็กเล็ก
1. สอนให้เด็กรู้จักป้องกันตนเอง เช่น ไม่สัมผัสปลั๊กไฟหรือเครื่องใช้ไฟฟ้าขณะน้ำท่วม
2. งดเล่นน้ำหรืออยู่ใกล้ทางน้ำหลาก
3. ศึกษาแผนฉุกเฉินของพื้นที่

p16xAg.jpg