บุกทลายโกดังบุหรี่ไฟฟ้า ยึดของกลางมูลค่ากว่า 80 ล้านบาท
เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 66 กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ บช.สอท.ได้ทำการสืบสวนทราบว่ามีการโฆษณาจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าและน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งเป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักรจำนวนมาก จึงได้ทำการสืบสวนจนนำไปสู่การจับกุมแหล่งซุกซ่อนบุหรี่ไฟฟ้าเจ้าใหญ่ จำนวน 2 ราย ดังนี้
รายที่ 1 แหล่งซุกซ่อนบุหรี่ไฟฟ้าเจ้าใหญ่ จังหวัดนครปฐม ทำการตรวจค้น จำนวน 3 จุด
จุดที่ 1 อาคารพาณิชย์ เลขที่ 35 ถนนจันทราคามพิทักษ์ ตำบลสนามจันทร์ อำเภอเมืองน
จุดที่ 2 บ้านเลขที่ 121/98 หมู่ 5 ตำบลถนนขาด อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม
จุดที่ 3 โกดัง ภายในบ้านเลขที่ 505 ถนนเทศา ตำบลพระประโทน อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม จับกุมผู้ต้องหา จำนวน 2 คน และตรวจยึดของกลางน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า คละแบบ จำนวน 88,214 ชิ้น หัวน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า คละแบบ จำนวน 70,589 ชิ้น บุหรี่ไฟฟ้าแบบดูดแล้วทิ้ง จำนวน 17,631 เครื่อง เครื่องบุหรี่ไฟฟ้า คละแบบ จำนวน 10,350 เครื่อง คอยน์บุหรี่ไฟฟ้า จำนวน 1,000 ชิ้น อะไหล่หัวบุหรี่ไฟฟ้า จำนวน 2,705 ชิ้น รวมมูลคำของกกลางที่ตรวจยึดได้กว่า 50 ล้านบาท
รายที่ 2 แหล่งซุกซ่อนบุหรี่ไฟฟ้าเจ้าใหญ่ย่านราชเทวี เข้าทำการตรวจค้นคอนโดย่านราชเทวี ถนนพญาไท แขวงพญาไท เขตราชเทวี กทม.โดยสามารถจับกุมผู้ต้องหา จำนวน 1 คน และตรวจยึดของกลางบุหรี่ไฟฟ้า iqos ตัวแท่งดูด+เครื่องชาร์ต จำนวน 537 เครื่อง บุหรี่ไฟฟ้า iqos ตัวแท่งดูด จำนวน 189 ตัว มวนบุหรี่สำหรับบุหรี่ไฟฟ้า ยี่ห้อ TEREA จำนวน 6,529 คอตตอน มวนบุหรี่สำหรับบุหรี่ไฟฟ้า ยี่ห้อmarlboro จำนวน 6,017 คอตตอน รวมมูลค่าของกลางที่ตรวจยึดได้กว่า 30 ล้านบาท
โดยการมีบุหรี่ไฟฟ้า และน้ำยาสำหรับเติมบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งเป็นสินค้าที่ ห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้บารากู่และบารากูไฟฟ้า หรือบุหรี่ไฟฟ้า เป็นสินค้าที่ต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ.2559 และเป็นสินค้าที่ห้ามขายหรือห้ามให้บริการ ตามคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคที่ 9/2558 เรื่อง ห้ามขายหรือห้ามให้บริการสินค้า “บาราภู่ บารากูไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับเติมบารากู่หรือบุหรี่ไฟฟ้า ” ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และได้ลักลอบจำหน่ายสินค้าดังกล่าว เข้าข่ายเป็นความผิด ดังนี้
1. กรณีขายบุหรี่ไฟฟ้า มีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 และที่แก้ไซเพิ่มเติม มาตรา 28/9 ประกอบมาตรา 56/5 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2. กรณีนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า มีความผิดตาม พ.ร.บ.การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ.2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 20 ประกอบประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่องกำหนดให้บารากู่และบารากูไฟฟ้า หรือบุหรี่ไฟฟ้า เป็นสินค้าที่ต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ.2557 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับเป็นเงินห้าเท่าของราคาสินค้า หรือทั้งจำทั้งปรับ กับให้ริบบุหรี่ไฟฟ้ารวมทั้งสิ่งที่ใช้บรรจุ และพาหนะใด ๆ ที่ใช้ในการบรรทุกสินค้าบุหรี่ไฟฟ้านั้นด้วย และยังเป็นความผิดตามพ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 244 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ
3. กรณีครอบครองหรือรับไว้ซึ่งบุหรี่ไฟฟ้า เป็นความผิดฐาน ช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อหรือรับไว้โดยประการใดซึ่งของเป็นอันตรายรู้ว่าเป็นของที่เข้ามาในราชอาณาจักร โดยยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้อง ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 246 วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือทั้งจำทั้งปรับ