สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ประกาศมาตรการเพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจาก PM2.5 ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่
วันที่ 31 มีนาคม 2566 นายแพทย์จตุชัย มณีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ลงนามประกาศสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ระบุว่า จากสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ของจังหวัดเชียงใหม่ที่เกินค่ามาตรฐานและมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ตลอดจนบุคลากรสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานในจังหวัดเชียงใหม่ จึงได้กำหนดแนวทางการปฏิบัติตามมาตรการ เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่นละออง ขนาดเล็ก PM2.5 ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ในกรณีที่ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง ในพื้นที่ อยู่ในระดับที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพหรือสีส้ม (มีค่ามากกว่า 51 มคก./ลบ.ม.) และอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพหรือสีแดง (มีค่ามากกว่า 91 มคก./ลบ.ม.) ดังนี้
ข้อที่ 1 ให้สถานบริการและหน่วยงานทุกแห่งในสังกัดสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่พิจารณาปรับระบบบริการและการปฏิบัติงานตามบริบทพื้นที่ ดังนี้
1.1 เลื่อนนัดผู้ป่วยตามความเหมาะสม โดยจัดให้มีระบบการติดตามละส่งยาทางไปรษณีย์
1.2 ให้บริการ Telemedicine ในกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และ Teleconsultation ระหว่างสถานบริการ
1.3 จัดเตรียมห้องปลอดฝุ่น และสนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันให้กับบุคลากร และผู้มารับบริการ
1.4 จัดระบบ work from home ในส่วนภารกิจที่ไม่ส่งผลกระทบต่อการบริการประชาชนและการประชุมสื่อสารผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
1.5 เมื่อมีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 อยู่ในระดับสีส้ม ควรลดกิจกรรมการแจ้งทุกชนิด
1.6 เมื่อมีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 อยู่ในระดับสีแดง ให้งดกิจกรรมการแจ้งทุกชนิด
1.7 ห้ามเผาในที่โล่งแจ้ง ดูแลยานพาหนะให้ปราศจากควันดำและลดการเดินทาง
ข้อที่ 2 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ได้สนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันให้กับบุคลากรในการปฏิบัติงานและจัดเตรียมห้องประชุมทุกห้องประชุม ห้องบริการทันตกรรม และห้องบริการเบ็ดเสร็จครบวงจรของกลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข เป็นห้องปลอดฝุ่นสำหรับเจ้าหน้าที่และผู้มารับบริการ
ทั้งนี้ ขอให้เจ้าหน้าที่สวมใส่หน้ากากป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เพื่อป้องกันฝุ่น โดยเฉพาะเมื่อออกในที่โล่งแจ้ง และสื่อสารประชาสัมพันธ์ ให้คำแนะนำประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงให้มีความรอบรู้ และปฏิบัติตัวได้ถูกต้อง เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5