รพ.นครพิงค์ เผย ภาคเหนือเสียชีวิตด้วย “มะเร็งปอด” มากที่สุดในประเทศ

341

1 เม.ย. 66 – เพจเฟซบุ๊ก “โรงพยาบาลนครพิงค์” โพสต์ข้อความประเด็นเกี่ยวกับโรคมะเร็งปอด จาก PM 2.5 ระบุว่า

ข้อมูลชี้ชัด ‼️ ภาคเหนือเสียชีวิตด้วยมะเร็งปอดมากที่สุดในประเทศ
จากสถานการณ์ฝุ่นพิษ PM 2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือ ที่มีค่าสูงในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ มาอย่างต่อเนื่องยาวนานนับเดือน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนเป็นวงกว้าง ทั้งในด้านร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคร้ายแรงเช่น มะเร็งปอด

ซึ่งจากข้อมูลการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอดจากมรณบัตร กองยุทธศาสตร์และแผนงาน กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ภาคเหนือ มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอดสูงกว่าภาคอื่นๆของประเทศ หรือประมาณ 31.4 ราย ต่อแสนประชากร ในปี 2563 ขณะที่อัตราการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอดเฉลี่ยทั่วประเทศเท่ากับ 22.6 รายต่อแสนประชากร

– PM 2.5 คืออะไร ทำไมจึงอันตราย
PM 2.5 คือฝุ่นละอองจิ๋วที่มีขนาดเล็กมาก เล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือเล็กกว่าเส้นผม 40 เท่า โดยปกติแล้วร่างกายจะมีกลไกการกรองฝุ่นละอองในอากาศ เช่น ขนจมูก น้ำมูก สารคัดหลั่งต่างๆ ที่จะดักจับฝุ่นละอองเอาไว้ก่อนที่อากาศจะเข้าไปสู่ถุงลมในปอด แต่ฝุ่น PM 2.5 นั้นมีขนาดเล็กกว่าที่กลไกของร่างกายจะดักจับไว้ได้จึงทำให้สามารถเข้าสู่ถุงลมในปอดได้โดยตรง ทำให้ปอดสัมผัสกับสารพิษ สารก่อมะเร็งกระตุ้นให้เกิดการอักเสบ จนทำให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจ และมะเร็งปอดในที่สุด

– เราจะป้องกันตนเองจาก PM 2.5 ได้อย่างไร
1.ควรอยู่ในบ้านหรือในอาคาร ลดการสัมผัสฝุ่นโดยตรง
2.ปิดประตู-หน้าต่างให้มิดชิด ร่วมกับการใช้เครื่องฟอกอากาศ (ถ้ามี)
3.สวมใส่หน้ากากเมื่อต้องออกจากอาคาร โดยหน้ากาก N95 มีประสิทธิภาพในการกรองฝุ่น PM 2.5ได้ดีที่สุด ขณะที่หน้ากากอนามัยจะมีประสิทธิภาพรองลงมา ส่วนหน้ากากชนิดฟองน้ำและหน้ากากผ้า ไม่สามารถกรองฝุ่น PM 2.5 ได้
4.หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายกลางแจ้ง
5.ดื่มน้ำมากๆ
6.ลดการก่อมลพิษในอากาศ เช่น งดการเผาในที่โล่ง ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว ไม่สูบบุหรี่
7.กลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กเล็ก,ผู้สูงอายุ,หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคระบบทางเดินหายใจควรดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ
ในช่วงเวลาที่สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ยังคงวิกฤต และยังไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ ประชาชนจึงควรตระหนักถึงพิษภัยของ PM 2.5 และเรียนรู้วิธีการที่จะป้องกันตนเองให้ดีที่สุด

ข้อมูล : โรงพยาบาลนครพิงค์