กกต. แจงยิบ 4 เหตุผล พิมพ์บัตรเลือกตั้งสำรอง 4.9 ล้านใบ ยันต้องแจกเป็นเล่ม เผื่อฉุกเฉิน

101

5 พ.ค. 66 – นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว กล่าวถึงประเด็นจำนวนบัตรเลือกตั้ง และการสำรองบัตร ระบุว่า

หลักการในการพิมพ์บัตรเลือกตั้ง คือ ต้องมีบัตรเพียงพอสำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ไม่ว่าจะมีเหตุหรือกรณีใดๆ ทั้งนี้ การเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 มีผู้ใช้สิทธิภายหลังมีการเพิ่มชื่อและถอนชื่อแล้ว จำนวน 52,239,354 คน บัตรที่พิมพ์ จำนวน 57,200,000 บัตร (จำนวน 2,860,000 เล่ม / เล่มละ 20 บัตร) จึงมีบัตรสำรองเพื่อใช้ประโยชน์ในการเลือกตั้ง จำนวน 4,960,646 บัตร บัตรที่สำรอง 4 ล้านกว่าฉบับดังกล่าว นำไปใช้ประโยชน์ ดังนี้

1. แจกจ่ายให้ทุกหน่วยเลือกตั้ง สำรอง 1 เล่ม เพราะการจ่ายบัตรจ่ายเป็นเล่มไม่ได้จ่ายเป็นฉบับ หน่วยเลือกตั้งมีอยู่ประมาณ (หน่วยปกติและหน่วยพิเศษสำหรับผู้พิการและทุพลภาพ) 100,000 หน่วย ใช้บัตรไปเพื่อการนี้ จำนวน 2,000,000 บัตร

2. สำรองให้แต่ละหน่วยเลือกตั้ง สำหรับกรรมการประจำหน่วย (กปน.) ที่สามารถเพิ่มชื่อลงคะแนนในหน่วยที่ตนเองปฏิบัติหน้าที่ ในวันเลือกตั้งได้ ซึ่งมีจำนวนหน่วยละ 9 คน สำหรับหน่วยปกติ (ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่เกิน 800 คน) และบางหน่วยอาจมี กปน. มากกว่า 9 คน ถ้าในหน่วยนั้นมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งเกิน 800 คน โดยที่เกินมาทุก 100 คน จะมี กปน. เพิ่มได้อีกหน่วยละ 1 คน
หรือถ้าผู้มีสิทธิเลือกตั้งเกินมา 400 คน ก็สามารถเพิ่มกปน.ได้อีก 1 ชุด คือ 9 คน หรือกปน.สำหรับหน่วยพิเศษสำหรับผู้พิการหรือทุพลภาพ มีกปน.หน่วยละ 12 คน และทุกหน่วยเลือกตั้งยังมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยอีกหน่วยละ 2 คนซึ่งมีประมาณ 100,000 หน่วย ใช้ไปเพื่อการนี้จำนวน 2,000,000 บัตร

3. เหลืออีก 9 แสนกว่าบาท ส่วนหนึ่งใช้ลักษณะเดียวกันสำหรับการเลือกตั้งล่วงหน้าในวันที่ 7 พ.ค 2566 และการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร

4. ที่เหลือจากข้อ 3 นำมาสำรองสำหรับกรณีมีเหตุฉุกเฉินและจำเป็น เช่น กรณีการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรที่ซูดาน ที่มีเหตุจลาจลไม่อาจจัดการเลือกตั้งได้ มีผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิ 94 คน จ่ายบัตรเต็มเล่มไป 5 เล่ม 100 บาท มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งกลับมาเมืองไทย ก็ต้องจัดสรรบัตรสำรองให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง สำหรับบุคคลดังกล่าวได้ออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค. 66