ประวัติ “จรัล มโนเพ็ชร” รำลึก 18 ปี การจากไปของราชาโฟล์คซองคำเมือง

14970

3 กันยายน 2562 ครบรอบ 18 ปี การจากไปของ “จรัล มโนเพ็ชร” ราชาโฟล์คซองคำเมือง ผู้เป็นทั้งนักร้อง นักดนตรี นักแต่งเพลง ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นศิลปินล้านนาผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุคสมัย

    ผ่านมาแล้ว 18 ปีการจากไป จรัล มโนเพ็ชร ราชาโฟล์คซองคำเมือง เราจะพามารู้จักประวัติรวมไปถึงผลงานต่างๆ ของจรัล มโนเพ็ชร

    จรัล มโนเพ็ชร เกิดเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2498 ณ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ บิดาชื่อนายสิงห์แก้ว มโนเพ็ชร ผู้เชี่ยวชาญและมีฝีมือเป็นเยี่ยมในการประดิษฐ์ โคม และตุง มารดาชื่อแม่ต่อมคำ สืบสายเลือดมาจากตระกูล ณ เชียงใหม่ ครอบครัวของเขาเป็น ครอบครัวใหญ่ มีพี่น้องทั้งหมด 7 คน เวลานั้นพ่อสิงห์แก้วทำงานรับราชการอยู่แขวงการทาง ซึ่งสังกัดกรมการทาง จ.เชียงใหม่ แต่รายได้ไม่เพียงพอ จึงหารายได้พิเศษโดยการรับงานปั้นและงานแกะสลัก ซึ่งจรัลก็ได้มีส่วนช่วยในงานของพ่อด้วย

การศึกษา

     จรัล เรียนจบชั้นประถมปีที่ 4 จากโรงเรียนพุทธิโสภณ และจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากโรงเรียนเมตตาศึกษา จังหวัดเชียงใหม่ จรัลเป็นนักเรียนที่มีประวัติการเรียนดีมากสอบได้ที่ 1 มาตลอด สอบได้ที่ 2 เพียงครั้งเดียว เข้าศึกษาต่อที่วิทยาลัยเทคนิคพายัพ จังหวัดเชียงใหม่

     สำเร็จประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงสาขาบัญชีเมื่อ พ.ศ. 2516 จรัลรักและสนใจดนตรีฝึกเรียนดนตรี และสามารถเล่นได้ตั้งแต่ยังเป็นเด็ก หัดเล่นเปียโนเมื่อเรียนชั้นประถมปีที่ 2 เล่นซึงเมื่อเรียนชั้นประถมปีที่ 3-4 เล่นกีตาร์เมื่อเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5-7 ตีขิมได้เมื่อเรียนชั้นมัธยมปีที่ 1 จรัลได้รับความสนับสนุนทั้งจากทางบ้าน และทางโรงเรียนทางบ้านพ่อแม่เป็นนักดนตรี ทางโรงเรียนก็สนับสนุน และเปิดโอกาสให้แสดงความสามารถทางดนตรี อย่างเต็มที่ จรัลฝึกดนตรีอย่างจริงจังเมื่อเรียนที่วิทยาลัยเทคนิคพายัพปีที่ 2 ขณะนั้นอายุประมาณ 14 ปี เป็นช่วงที่เขาสนใจดนตรีลูกทุ่งตะวันตก พอเรียนชั้นปีที่3 เริ่มร้องเพลงและได้ค่าจ้างจากการไปเล่นดนตรีตามงานบ้างตามโรงแรมบ้าง ส่วนใหญ่เล่นเพลงลูกทุ่งตะวันตก

14764083dt2.jpg.7bde98c2da744dc18d1edd5c8389b7fd.jpg
ภาพ : Wikipedia – Torpido

     จรัลได้สอบบรรจุได้เป็นข้าราชการของแขวงการทาง ที่อำเภอพะเยา และเขาก็ทำงานร้องเพลงอยู่ที่นั่นด้วย เขาลาออกจากงานข้าราชการเพราะ ทนการคอรัปชั่นไม่ได้ และการที่เพื่อนของเขาต้องเสียชีวิต โดยที่ไม่รู้เรื่องด้วยจากการทำร้ายผิดตัว ก่อนที่เขาจะลาออกจากงานเขาได้ทิ้งทวนโดยการเปิดโปง การโกงกินเงินตราของแผ่นดิน ของข้าราชการเหล่านั้น

      จากการสนับสนุนของคุณมานิด ที่ชักชวนให้ออกเทปเพลง จรัลจึงเลือกบทเพลงท้องถิ่นที่มีอยู่ก่อนแล้ว และเขียนคำเมืองขึ้นมาใหม่อีกหลายเพลง และออกงานเพลงที่ชื่อ “โฟล์คซองคำเมือง อมตะ” จากนั้นมาจรัลก็มีชื่อเสียงไปทั่วประเทศ และในขณะเดียวกันเขาก็ยังทำงานเป็นสมุห์บัญชี อยู่ที่ธนาคาร ธกส. ด้วย รวมแล้ว เขาเป็นทั้ง นักร้อง นักดนตรี และสมุห์บัญชีในเวลาเดียวกัน เอกลักษณ์ของผลงานของเขาที่โดดเด่น คือความเป็นล้านนา และใช้ภาษาคำเมือง เล่าถึงประสบการณ์ที่เขาได้พบเห็นมา เล่าเป็นเรื่องราว และมีเนื้อหาที่น่าติดตาม โดยเผยแพร่ออกมาในรูปแบบของบทเพลงที่ไพเราะและน่าฟัง

ผลงานเพลงของจรัลที่โด่งดังและได้รับความนิยมมาก คือ

“อมตะ 1” เพลงเอกได้แก่ อุ๊ยคำ, ของกิ๋นคนเมือง

“อมตะ 2” เพลงเอกได้แก่ ก้ายง่าว, แอ่วสาว

“เสียงซึง ที่สันทราย” เพลงเอกได้แก่ เมืองเหนือ, กลิ่นเอื้องเสียงซึง

“จากยอดดอย” เพลงเอกได้แก่ จากยอดดอย, มิดะ

“ลูกข้าวนึ่ง” เพลงเอกได้แก่ ตากับหลาน, มะเมียะ

“แตกหนุ่ม” เพลงเอกได้แก่ ดอกฝ้าย, บ้าน

“อื่อ…จ่า..จ่า” เพลงเอกได้แก่ อื่อ…จ่า..จ่า.

“บ้านบนดอย” เพลงเอกได้แก่ ลุงต๋าคำ, ม่อฮ่อม

“เอื้องผึ้ง จันผา” เพลงเอกได้แก่ เอื้องผึ้ง จันผา, แม่ค้าปลาจ่อม , รางวัลแด่คนช่างฝัน

     จรัล เคยฉีกแนวของเขาครั้งหนึ่งโดยการทำดนตรีในแนวแจ๊ส ซึ่งเขาให้ชื่องานชิ้นนี้ว่า “จรัลแจ๊ส” แต่ไม่ได้รับการต้อนรับจากแฟนเพลง ของเขา ในปลายปี 2533 จรัลได้ร่วมเดินทางไปกับกองถ่ายภาพยนตร์ เรื่อง “วิถีคนกล้า” แต่แรกหน้าที่ในการทำงานของเขาคือ การทำดนตรีประกอบและเป็นที่ปรึกษาของกองถ่าย แต่ในที่สุดเขาก็ได้รับการขอร้องจากคุณยุทธนา มุกดาสนิท ให้แสดงในภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย กลางปี 2536 จรัลได้ตกลงใจรับแสดงภาพยนตร์เรื่อง “กาเหว่าที่บางเพลง” แต่เมื่อเวลาผ่านไป ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้รับการออกฉายตามโรงภาพยนตร์ เพราะมีปัญหา ในเรื่องดนตรีประกอบ ทำให้นิรัติศรัย กัลย์จาฤกษ์ ต้องขอให้จรัลช่วยทำดนตรีให้ จึงทำให้เขาต้องทุ่มเทอย่างหนัก กับผลงานชิ้นนี้ด้วยสาเหตุในเรื่องของเวลาที่มีอยู่จำกัด และจำเป็นจะต้องให้ผลงานนั้นออกมาดีเยี่ยม จรัลเป็นคนชอบเขียนบทกวี และแปลเพลงฝรั่งเป็นภาษาไทย ตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม หลังเหตุการณ์ 13-14 ตุลาคม 2516 เขียนเพลงปลุกใจเพลงเชียร์และเพลง เกี่ยวกับอุดมการณ์

 * ปี 2525 จรัลได้รับรางวัลจากหน่วยงานขององค์การ “ยูนิเซฟ” เป็นเหรียญบรอนซ์สำหรับศิลปินเพื่อสันติภาพ โดยผู้อำนวยการของยูนิเซฟในย่านเอเชียแปซิฟิค ขณะนั้น ซึ่งเป็น ชาวอินเดีย ในฐานะที่จรัลได้หาเงินและขอรับบริจาคเงินจากการขึ้นเวที ร้องเพลงเพื่อนำไปมอบให้หน่วยงานของ “ยูนิเซฟ” เพื่อให้ไปดูแลผู้พิการและคนยากจน เพื่อที่จะให้แพทย์ช่วยรักษาและทำการผ่าตัดให้เด็ก ๆ เหล่านั้นเป็นปกติเหมือนเดิม

     ปลายเดือนกรกฎาคม 2530 จรัลได้รับเกียรติให้แสดงละครเวทีเรื่อง แมน ออฟ รามันชา ซึ่งเป็นเรื่องที่เขาชื่นชอบโดยที่เขาไม่คาดคิด ซึ่งเขาได้รับบทเด่นในเรื่องนี้ด้วย โดยที่แสดงเป็น “กิโฆเต้” ซึ่งเป็นตัวละครสำคัญตัวหนึ่งในเรื่องนี้

     ในปี 2538 จรัลได้รับรางวัลสีสันอะวอร์ด ถึง 3 รางวัลรวด ในฐานะศิลปินชายยอดเยี่ยม อัลบั้มยอดเยี่ยม และบทเพลงยอดเยี่ยม ซึ่งรางวัลดังกล่าวนั้นมาจาก ผลงานชิ้นเดียวคือ “ศิลปินป่า” นอกจากทั้ง 3 รางวัลนี้แล้ว บทเพลง “น้ำแม่ปิง” จากผลงานชุดนี้ยังได้รับประกาศเกียรติคุณจากชมรมสภาะแวดล้อมแห่งสยาม และยังได้รับคัดเลือกให้เป็นบทเพลงดีเด่นสำหรับเยาวชนตั้งแต่อายุ 17 ปีขึ้นไป

     ในปลายปี 2539 จรัลได้รับรางวัลพระพิฆเนศทองคำในสาขานักร้องชายดีเด่น ประเภทเพื่อชีวิตสร้างสรรค์

      ในช่วงปี 2541 จรัลได้สร้างสรรค์บทเพลงที่ชื่อว่าเพลง “ฝากไว้ให้กันและกัน” ในผลงานชุด “ความหวังความฝันของวันนี้” ซึ่งเป็นบทเพลงจากบทกวีสั้นๆ ที่เขาได้เขียนขึ้น ให้กับเพื่อนได้อ่านในร้าน “สายหมอกกับดอกไม้” ซึ่งเป็นกิจการที่เขาเปิดขึ้นมีเวทีดนตรีเล็ก ๆ ที่มีนักดนตรีโฟล์คซองอยู่ แต่ไม่ใช่ตัวจรัลเอง ที่เล่นดนตรีบนนั้น เพราะไม่ค่อยมี เวลาที่จะเข้ามาดูแลร้านอย่างเต็มที่ จนกระทั้งในปี 2543 เขาจึงใช้ชีวิตในเมืองเหนือมากขึ้น

     จรัล มโนเพ็ชร เสียชีวิตลงอย่างปัจจุบันทันด่วนแบบที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดขึ้น ในวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2544 ที่บ้านดวงดอกไม้ จังหวัดลำพูน ข่าวการเสียชีวิตของจรัลได้แพร่กระจายออกไปอย่างรวดเร็ว โดยสื่อแขนงต่างๆ ส่งผลให้ผู้คนจำนวนมากจากทุกวงการเดินทางมา ร่วมงานบำเพ็ญกุศลให้กับศพของจรัล ที่ตั้งอยู่ที่วัดพระธาตุหริภุญชัย วรมหาวิหาร ในตัวเมืองลำพูน การบำเพ็ญกุศลจัดขึ้นเป็นระยะเวลา 5 วัน ต่อจากนั้นพิธีฌาปนากิจของจรัลได้ถูกจัดขึ้นอย่างสมเกียรติ

     แม้จรัลจะเสียชีวิตไปแล้วแต่บทเพลงของเขานับร้อยเพลงนั้นยังคงเป็นอมตะ ผู้คนยังคงฟังเพลงของเขาอยู่ไม่เสื่อมคลาย

อ้างอิง / ภาพ
– วิกิพีเดีย – จรัล มโนเพ็ชร
– วิภาวี บริบูรณ์

ข่าวเชียงใหม่ร้อยแปด