เชียงใหม่ มูลนิธิร้องเรียน ถูกชาวบ้านฮุบที่ดินสร้างบ้านเกือบ 40 หลัง ตั้งแง่มีบ้านเลขที่เกือบทุกหลังทั้งที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ เชื่อบางส่วนสวมสิทธิ์บ้านเลขที่อื่นมาใช้ เรียกร้องปลัด มท.สั่งตรวจสอบ
วันที่ 21 มิถุนายน 2566 นายศรุต กาญจนกามล อายุ 54 ปี ผู้ได้รับมอบอำนาจจากมูลนิธิช่วยเหลือพัฒนาการอนามัยและท้องถิ่น พร้อมกับ นางสาวยศธร ผลเจริญรัตน์ ปลัดอำเภอเมืองเชียงใหม่ และ นายบุญญฤทธิ์ ณิปวนิชย์ หัวหน้าศูนย์บริหารการทะเบียนภาค 5 จ.เชียงใหม่ เข้าตรวจสอบพื้นที่ 8 ไร่ 2 งาน ของมูลนิธิช่วยเหลือพัฒนาการอนามัยและท้องถิ่น ในพื้นที่ ต.สันผีเสื้อ อ.เมืองเชียงใหม่ หลังพบว่าที่ดินผืนนี้มีกลุ่มชาวบ้านเข้ามาปลูกสร้างบ้านอยู่อาศัยเกือบ 40 ครอบครัว แถมระบบสาธารณูปโภคครอบครัวทั้งถนน น้ำ ไฟฟ้า และ หนึ่งในนั้นยังอ้างความเป็นเจ้าของบ้านเลขที่ ยื่นฟ้องครอบครองปรปักษ์ในที่ดินของมูลนิธิ ทั้งที่มูลนิธิมีเอกสารสิทธิ์เป็นโฉนดที่ดินและชาวบ้านก็ทราบดีอยู่แล้ว และจากการตรวจสอบวันนี้พบว่าที่ดินผืนดังกล่าวมีการสร้างถนนแบ่งเป็นสามบล็อกและมีบ้านถูกสร้างอยู่อาศัยจนเต็มพื้นที่และทุกหลังมีเลขที่บ้าน
นายศรุต กาญจนกามล อายุ 54 ปี ผู้ได้รับมอบอำนาจจากมูลนิธิช่วยเหลือพัฒนาการอนามัยและท้องถิ่น เปิดเผยว่า คุณแม่ของเขาซื้อที่ดินผืนนี้มาในปี 2519 เป็นเอกสาร นส.3 ก. หลังจากนั้นในปี 2522 ได้น้อมเกล้าฯถวายที่ดินแปลงนี้พร้อมกับเงินอีก 3 แสนบาท แด่ในหลวงรัชกาลที่ 9 และในหลวงได้พระราชทานที่ดินพร้อมกับเงินจำนวนดังกล่าวเพื่อให้จัดตั้งเป็นกองทุนมูลนิธิสงเคราะห์ด้านการพัฒนาท้องถิ่นและการอนามัยเพื่อประชาชนในพื้นที่
หลังจากนั้นทางจังหวัดได้ดำเนินการจัดตั้งมูลนิธิและมีคณะกรรมการตามวาระ พร้อมกับยื่นดำเนินการขอออกโฉนดที่ดินเพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ แต่ที่ผ่านมาก็ยังไม่ได้เข้ามาดำเนินการอะไรเนื่องจากยังขาดงบประมาณและยังไม่มีหน่วยงานราชการเข้ามาสนับสนุน ทำให้ต้องปล่อยที่ดินทิ้งไว้ก่อน
ต่อมาในปี 2553 ทางมูลนิธิได้โฉนดที่ดินผืนนี้ แต่กลับพบว่ามีชาวบ้านเข้ามาสร้างที่อยู่อาศัยจนเต็มพื้นที่ เมื่อตรวจสอบทราบว่าเริ่มทยอยเข้ามาอยู่กันตั้งแต่ปี 2538 เริ่มแรกก็มีไม่กี่หลังก่อนจะขยายเป็นชุมชน และ ทราบว่ามีหน่วยงานในพื้นที่จัดสรรแบ่งเปลงให้เข้ามาอยู่ โดยอ้างว่าตรวจสอบกับที่ดินจังหวัดแล้วพบว่าไม่มีใครถือครองที่ดิน
ล่าสุดในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ได้มีชาวบ้านที่อยู่บ้านเลขที่ 6 บนที่ดินของมูลนิธิยื่นฟ้องครอบครองปรปักษ์ โดยระบุว่าเข้ามาอยู่ตั้งแต่ปี 2537 ซึ่งทางมูลนิธิได้เจรจาไกล่เกลี่ยขอให้ออกจากพื้นที่แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป ขณะเดียวกันทางมูลนิธิได้ร้องเรียนขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือมาหลายครั้งแต่เรื่องก็เงียบจนมาถึงในครั้งนี้ โดยขอให้ทางฝ่ายปกครองได้ตรวจสอบในเรื่องของบ้านเลขที่ที่ใช้เป็นพยานหลักฐานฟ้องคดีครอบครองปรปักษ์ ว่าเป็นบ้านเลขที่ที่ได้มาโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และ ขอให้ตรวจสอบด้วยว่าหน่วยงานบางหน่วยงานอนุญาตให้ชาวบ้านเข้าไปอยู่ในที่ดินของมูลนิธิโดยไม่ได้รับอนุญาตได้อย่างไร
นายศรุต ยืนยันว่าที่ดินมีเอกสารสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมายและทางมูลนิธิยังมีวัตถุประสงค์ดำเนินการตามที่ได้รับพระราชทานที่ดินมา ไม่มีวัตถุประสงค์ในการให้เช่าหรือให้เป็นที่อยู่อาศัย โดยหลังจากนี้จะดำเนินการตามกฎหมาย
ด้านนายบุญญฤทธิ์ ณิปวนิชย์ หัวหน้าศูนย์บริหารการทะเบียนภาค 5 จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบพบบ้านเลขที่ที่ถูกนำมาอ้าง เป็นบ้านอีกหลังหนึ่งในหมู่บ้านเดียวกันที่ขายเปลี่ยนมือไปนานแล้ว และ เจ้าของเดิมได้นำมาใช้กับบ้านหลังใหม่หลังนี้ ยืนยันว่าการขอเลขที่บ้านจะต้องมีเอกสารสิทธิ์ และ ไม่สามารถโอนไปให้ใครหรือย้ายไปใช้กับบ้านหลังใหม่ในที่ดินแปลงอื่นได้ เรื่องที่เกิดขึ้นมีบ้านหลายสิบหลังเข้ามาเกี่ยวข้อง และ ยังเกี่ยวกับมูลนิธิที่ที่ก่อตั้งขึ้นตามพระราชประสงค์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงขอให้ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ สั่งการตรวจสอบในเรื่องนี้
ขณะที่นายปรัชญา จิตตคุปต์ อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 ต.สันผีเสื้อ ในช่วงปี 2537 – 2547 บอกว่า คนในหมู่บ้านและชาวบ้านที่เข้ามาอยู่ในที่ดิน ทราบอยู่แล้วว่าเป็นที่ดินของมูลนิธิ ในช่วงแรกใครที่จะเข้ามาอยู่ก็จะมาขอกับคณะกรรมการหมู่บ้าน ซึ่งคณะกรรมการก็จะให้เข้าไปอยู่โดยจะต้องเป็นไปเพื่อบรรเทาผลกระทบจากความยากจนและมีเงื่อนไขคืออยู่ชั่วคราวและจะต้องย้ายออกเมื่อเจ้าของที่ดินต้องการเข้ามาใช้ประโยชน์ ต่อมาช่วงหลังก็พบว่ามีบางส่วนที่ทยอยเข้ามาอยู่ในโครงการของหน่วยงานท้องถิ่นและมีการออกบ้านเลขที่ชั่วคราว กระทั่งล่าสุดมาทราบว่าชาวบ้านฟ้องเจ้าของที่ดิน