ยูทูบเบอร์สายดนตรีไทย วอนหยุดสสร้างเนื้อหาและวาทกรรม “ผีดนตรีนาฏศิลป์ไทย” ในเชิงลบน่ากลัว พร้อมชวนมาสร้างเนื้อหาเชิงบวกแทนการสร้างความกลัว หวังคนไทยหันมาฟัง – มาเล่นดนตรีไทยมากขึ้น

134

ยูทูบเบอร์สายดนตรีไทย วอนหยุดสสร้างเนื้อหาและวาทกรรม “ผีดนตรีนาฏศิลป์ไทย” ในเชิงลบน่ากลัว พร้อมชวนมาสร้างเนื้อหาเชิงบวกแทนการสร้างความกลัว หวังคนไทยหันมาฟัง – มาเล่นดนตรีไทยมากขึ้น

ฟีโน่-ปาเจร พัฒนศิริ ยูทูบเบอร์สายดนตรีไทย ชื่อดังได้ออกมาโพสต์ facebook ชื่อ Fino the Ranad โดยมีข้อความว่า ผม Fino the Ranad และชาวดนตรีและนาฏศิลป์ไทยหลายท่าน ได้พยายามอย่างสุดความสามารถเพื่อให้ผู้คนเปิดใจกับดนตรี-นาฏศิลป์ไทย แม้คนทั่วไปอาจไม่ได้อินถึงกับอยากเล่นดนตรีไทยหรือรำไทย แต่แค่หันมาสนใจรับชมรับฟังก็เพียงพอแล้ว แต่ความพยายามดังกล่าว มักจะต้องแพ้พ่ายต่อทัศนคติเชิงลบเพราะความเชื่อที่ว่า “ดนตรีและนาฏศิลป์ไทย” มักมาคู่กับ “ภูตผีวิญญาณ”

แน่นอนว่าพวกเราหลายคนมีความเชื่อในเรื่องการเคารพและกตัญญูต่อครูบาอาจารย์ ทั้งที่เป็นเทพและมนุษย์ ทั้งที่มีชีวิตอยู่และล่วงลับไปแล้ว และเราเชื่อสุดหัวใจว่า ครูบาอาจารย์ทุกท่าน ย่อมหวังดีต่อลูกศิษย์ทุกคน และไม่มาหลอกหลอนพร่ำเพรื่ออย่างไร้เหตุผล ตลอดเวลาที่เป็นนักดนตรีไทยมา ยังไม่เคยต้องวิ่งหัวซุกหัวซุนหนีผี ทุกวันนี้ผมยังนอนท่ามกลางเครื่องดนตรีไทย โดยไม่มีผีที่ไหนมาสีซอให้ฟัง ดังนั้นจึงอยากรณรงค์ให้หยุดสร้างเนื้อหาผีดนตรีนาฏศิลป์ไทยในสื่อต่าง ๆ หยุดแซวนักดนตรีไทยว่า เล่นดนตรีไทยกลางคืน ระวังข้างบ้านหลอน เพราะที่หลอนคือคนแซว อาจจะต้องไปเช็คระบบประสาท

จะดีกว่าหรือไม่? ถ้าเรามาร่วมกันสร้างเนื้อหาเชิงบวกแทนการสร้างความกลัว

จะดีกว่าหรือไม่? ถ้าเราทำให้คนทั่วไปเปิดใจและสนใจในศิลปะเหล่านี้

ถามหัวใจคุณดูลึก ๆ แล้ว คุณต้องการให้คนวิ่งเข้าหา หรือ วิ่งหนี ดนตรีนาฏศิลป์ไทย?

มาเป็นส่วนหนึ่งในการสืบสาน พัฒนา ต่อยอด ดนตรีนาฏศิลป์ไทยกันดีกว่า อย่าเป็นส่วนหนึ่งในการทำลายศิลปะแขนงนี้เลย

ต่อมา ฟีโน่-ปาเจร พัฒนศิริ ได้ให้สัมภาษณ์ชี้แจงประเด็นโพสต์ “หยุด! ผลิตซ้ำเนื้อหาและวาทกรรม “ผีดนตรีนาฏศิลป์ไทย” (ในเชิงลบ/น่ากลัว)” ในรายการคุยกันเช้านี้ FM106 วิทยุครอบครัวข่าวช่อง 3 กับคุณนิธินาฏ ราชนิยม โดยอธิในหลายประเด็นที่อาจเข้าใจคลาดเคลื่อนจากโพสต์ครับ โดยสรุปใจความสำคัญได้ดังนี้:
– ถ้าอ่านเนื้อหาในโพสต์ จะเห็นว่าจุดประสงค์จริงคือการรณรงค์ให้ผู้คนทั้งในและนอกวงการดนตรี-นาฏศิลป์ไทย เผยแพร่เรื่องราวเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมแขนงนี้ในเชิงบวกมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นประโยชน์กว่าการทำให้ดนตรีไทยดูน่ากลัวและแตะต้องไม่ได้
– คำว่า “สื่อ” ในโพสต์ ครอบคลุมถึงเครื่องมือการสื่อสารทุกรูปแบบ การเล่าเรื่องต่อกัน การขู่ การบอกเล่า ก็รวมอยู่ในความหมายของสื่อ (ซึ่งเขียนไว้อยู่ในท้ายโพสต์ดังกล่าว)
– สาเหตุที่คนมีภาพจำเรื่องความน่ากลัว อาจเป็นเพราะดนตรีไทยมีความผูกติดกับพิธีกรรม ในศาสนาผีตั้งแต่อดีต ดนตรีถูกใช้เป็นสื่อในการติดต่อกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือจิตวิญญาณ และในอดีต การใช้ความกลัวเป็นกุศโลบายในการทำให้นักดนตรีเคารพเครื่องดนตรีและครูอาจารย์ เช่นผู้ใหญ่ห้ามเด็กเล่นซ่อนแอบตอนกลางคืน เพราะจะมีผีมาจับตัว
– แต่แท้จริงแล้ว การไหว้ครูคือการแสดงความกตัญญูต่อครูในฐานะผู้ให้วิชาความรู้ และการไหว้และไม่ข้ามเครื่องดนตรี คือการให้เกียรติและดูแลรักษาเครื่องดนตรีในฐานะอุปกรณ์ทำมาหากิน (ซึ่งไม่ใช่แค่ในวงการดนตรี ยกตัวอย่างเช่นโค้ชกีฬาบางท่าน จะไม่ให้นักกีฬาข้ามไม้แบดมินตันหรืออุปกรณ์กีฬาของตน)
– เมื่อยุคสมัยเปลี่ยน เราจึงใช้วิธีการอธิบายด้วยเหตุผลและตรรกะมากขึ้น แต่วาทกรรมที่สร้างความน่ากลัวนี้ยังคงถูกผลิตซ้ำผ่านการเล่าเรื่องในรูปแบบต่าง ๆ และขยายความ (exaggerate) ให้น่ากลัวยิ่งขึ้นไป เช่นผีดนตรีไทยที่หวงเครื่องดนตรี เครื่องดนตรีที่ทำจากหนังมนุษย์ หรือผีนางรำที่มารำอยู่ปลายเตียง (ทำไมนะ?) ซึ่งเป็นการสร้างภาพจำให้ดนตรี-นาฏศิลป์ไทยกลายเป็นของสูง น่ากลัว ไกลตัว และแตะต้องยาก
– โน่และศิลปินดนตรี-นาฏศิลป์ไทยยุคปัจจุบันหลายท่านไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในการแช่แข็งวัฒนธรรม หากแต่กำลังพยายามนำเสนอดนตรี-นาฏศิลป์ไทยในรูปแบบทันสมัยเพื่อลบภาพจำเหล่านี้ แต่การสลัดภาพจำออกเป็นไปได้ยากหากยังมีการผลิตซ้ำเนื้อหาและวาทกรรมที่สร้างความน่ากลัวนี้ต่อไปเรื่อย ๆ ในสื่อ (ที่หมายถึงเครื่องมือการสื่อสารทั้งหมด)
– โพสต์นี้ไม่ได้ต้องการเปลี่ยนความเชื่อหรือความเคารพของคน ซึ่งแน่นอนว่าเป็นไปไม่ได้ แต่ต้องการรณรงค์ให้เผยแพร่ด้านบวก ให้ได้ลองตกผลึกหาวิธีการนำเสนอที่สร้างสรรค์และจรรโลงใจยิ่งขึ้น
– สำหรับใครที่กลัว เห็นดนตรี-นาฏศิลป์ไทยเป็นของสูง ไกลตัว และแตะต้องไม่ได้ ลองมาแตะต้อง หรือแค่เริ่มเปิดใจรับชมรับฟัง ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีแล้ว
สุดท้ายนี้ ขอบพระคุณทุกท่านที่ให้ความสนใจในประเด็นนี้ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันด้วยตรรกะและเหตุผล ศิลปวัฒนธรรมทุกแขนง จะถูกแช่แข็งและค่อย ๆ ตายไป หากไม่ได้รับการถกเถียงและหาวิธีรักษา ต่อยอด และพัฒนา
ขอบคุณข้อมูล : Fino the Ranad