เดินหน้าขับเคลื่อน “เชียงใหม่” สู่เมืองมรดกโลก ชูคุณค่าผังเมือง มรดกวัฒนธรรม และสถาปัตยกรรม พร้อมวางแผนพัฒนาจุดหลักและพื้นที่โดยรอบ ภายใต้กลไกของมรดกโลก

238

ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ สั่งเดินหน้าขับเคลื่อนเชียงใหม่สู่เมืองมรดกโลก ชูคุณค่าผังเมือง มรดกวัฒนธรรม และสถาปัตยกรรม พร้อมวางแผนพัฒนาจุดหลักและพื้นที่โดยรอบ ภายใต้กลไกของมรดกโลก

เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2566 ที่ ห้องประชุม 1 ชั้น 2 อาคารอำนวยการ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานประชุมขับเคลื่อนเมืองเชียงใหม่สู่เมืองมรดกโลกทางวัฒนธรรมขององค์การยูเนสโก โดยมี นายวีรพงศ์ ฤทธิ์รอด รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และคณะกรรมการอำนวยการฯ ร่วมประชุม

จังหวัดเชียงใหม่ จะนำเสนอคุณค่าของเมืองใน 3 ด้าน ประกอบด้วย ด้านผังเมือง ด้านมรดกวัฒนธรรม และด้านสถาปัตยกรรมและศิลปกรรม ภายใต้แหล่งมีมรดก 4 พื้นที่ 10 แหล่ง 2 กลุ่ม คือ แหล่งมรดกที่แสดงถึงสัณฐานและการวางแผนเมืองโบราณ ประกอบด้วย กำแพงเมือง 5 ประตู 4 แจ่ง และคูเมือง ประกอบด้วย กำแพงเมืองชั้นในและแนวคูเมือง ส่วนอีกกลุ่ม คือ แหล่งมรดกที่แสดงออกถึงคุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากลของงานสถาปัตยกรรมศิลปกรรมล้านนา จำนวน 8 แหล่ง โดยการกำหนดขอบเขตดังกล่าวเป็นการวางแนวทางเพื่อกำหนดขอบเขตของการทำงาน ว่าจุดที่เลือก หรือ Core Zone มีเรื่องราวที่สมควรเป็นมรดกโลกได้อย่างไร เพื่อสร้างการรับรู้และร่วมกันรักษาเมือง ควบคู่ไปกับมิติของการป้องกันและดูแลรักษาพื้นที่รอบเมืองมรดกโลก หรือ Bubble Zone ภายใต้กลไกของมรดกโลก ซึ่งมีข้อดีคือจะทำให้มีความยืดหยุ่นของการทำงานกับกลุ่มอนุรักษ์และกลุ่มที่ต้องทำเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ อันจะเป็นการป้องกันไม่ให้เมืองมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ไม่สมควร

blank

ทั้งนี้ การได้รับยกย่องเป็นเมืองมรดกโลก จะส่งผลดีทางเศรษฐกิจให้จังหวัดเชียงใหม่ ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวและกิจการที่เกี่ยวข้องจะเพิ่มขึ้น เกิดการจ้างงาน สร้างโอกาส สร้างอาชีพ ลดความเหลื่อมล้ำทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อภาคธุรกิจ และทั้งห่วงโซ่ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั้งหมด ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การมีแผนบริหารและจัดการอนุรักษ์และพัฒนาตามหลักสากล เพื่อส่งต่อมรดกทางวัฒนธรรมสู่เยาวชนรุ่นหลังอย่างยั่งยืน และสร้างความภาคภูมิใจแก่ประเทศไทยและจังหวัดเชียงใหม่

ข่าว-ภาพ : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่