คนไทย 89% หันมาใช้จ่ายแบบ “ไร้เงินสด” รับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

216

8 ก.ค. 66 – นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการศึกษาเรื่องทัศนคติการชำระเงินของผู้บริโภคประจำปีของวีซ่า (Visa Consumer Payment Attitudes Study) ของ “วีซ่า (Visa)” ผู้นำการให้บริการการชำระเงินดิจิทัลระดับโลก ซึ่งเปิดเผยว่าผู้บริโภคชาวไทยอยากหันมารับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น โดยผู้บริโภคชาวไทยส่วนใหญ่ (86%) ตระหนักถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการบริโภคในชีวิตประจำวันมากยิ่งขึ้น

ผลการศึกษาเรื่องทัศนคติการชำระเงินของผู้บริโภคประจำปี 2565 ของวีซ่า (Visa Consumer Payment Attitudes Study) ซึ่งจัดทำระหว่างเดือนกันยายนและเดือนตุลาคม 2565 ใน 7 ประเทศ ทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม โดยสำรวจจากกลุ่มตัวอย่าง 6,550 คน รวมทั้งผู้บริโภคในประเทศไทยจำนวน 1,050 ราย ที่มีอายุระหว่าง 18 – 65 ปี ครอบคลุมทุกระดับการศึกษา และมีรายได้ขั้นต่ำต่อคนที่ 15,000 บาท พบว่า 89% ของผู้บริโภคชาวไทยเลือกที่จะชำระเงินแบบไร้เงินสด เป็นทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะชำระผ่านบัตร Mobile Wallet หรือ Mobile Banking นอกจากนี้ 48% ของผู้บริโภคชาวไทยเลือกซื้อสินค้าจากแบรนด์ที่ให้ความสำคัญในเรื่องความยั่งยืนมากกว่าเมื่อเปรียบเทียบในราคาและคุณภาพที่เท่ากัน โดยอีก 23% ยอมจ่ายมากขึ้นให้แก่บริษัทที่ใส่ใจและให้คุณค่าเรื่องความยั่งยืน

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลไทยโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินการขับเคลื่อนสังคมไร้เงินสด (Cashless Society) อย่างต่อเนื่อง ซึ่งรัฐบาลได้ส่งเสริมให้ประชาชนทุกกลุ่มเข้าถึงการทำธุรกรรมและการให้บริการรูปแบบต่างๆ ทางอิเล็กทรอนิกส์ การค้า e-Commerce และ การใช้ Digital Banking รวมถึงการป้องการอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยผลงานที่ประสบผลสำเร็จ และนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง ได้แก่
1)โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่จ่ายเงินช่วยเหลือผ่านบัญชีธนาคารผู้มีรายได้น้อย 14 ล้านราย และกลุ่มเปราะบาง
2) โครงการ “พร้อมเพย์” (Prompt pay) และ QR Payment ที่เป็นการชำระเงินผ่านอิเล็กทรอกนิกส์แบบ Any ID ที่เชื่อมโยงกับหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน
3) Government Wallet (G-Wallet) ถุงเงิน application สำหรับ SME ขนาดเล็ก คือการใช้จ่ายเงินดิจิทัลของผู้เข้าร่วมโครงการผ่านแอป “เป๋าตัง” กว่า 50 ล้านคน และร้านค้า–SME ที่เข้าร่วมโครงการผ่านแอป “ถุงเงิน” ในโครงการคนละครึ่ง – เราเที่ยวด้วยกัน – ชิมช้อปใช้ เป็นต้น
4) การนำเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) มาใช้กับการคืนภาษี VAT ให้กับนักท่องเที่ยว และการออกพันธบัตรรัฐบาลที่เชื่อมโยงกับระบบภาษี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการนำส่งภาษี
5)โครงการขายสลากดิจิทัล ผ่านแอปเป๋าตัง ที่ทำให้การซื้อ-ขายสลากกินแบ่งรัฐบาลมีความสะดวกยิ่งขึ้น