ครม. มีมติไม่ต่ออายุ ลดภาษีน้ำมันดีเซล 5 บาท ที่จะสิ้นสุด 20 ก.ค.นี้ เหตุผูกพันต่อรัฐบาลใหม่

157

เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรีรับทราบแนวทางการดำเนินมาตรภาษีสรรพสามิตเพื่อรักษาเสถียรภาพระดับราคาดีเซล หลังรัฐบาลได้ดำเนินมาตรการทางภาษีเพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนจากสถานการณ์ราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธุ์ 2565 ด้วยการออกกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตรวมทั้งสิ้น 7 ฉบับ ประเมินสูญเสียรายได้ภาษีประมาณ 156,000 ล้านบาท และโดย กฏกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 34) พ.ศ. 2566 ปรับลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซลลง 5 บาทต่อลิตร จะสิ้นสุดในวันที่ 20 กรกฎาคม 2566 นี้ ซึ่งจะส่งผลให้อัตราภาษีจะกลับสู่ภาวะปกติ นั้น

กระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงานได้หารือและมีความเห็นร่วมกัน ว่า การใช้มาตรการทางภาษีเพื่อปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล หลังจากมาตรการการปรับลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซลจะสิ้นสุดในวันที่ 20 กรกฎาคม 2566 นี้ จะเป็นการดำเนินการที่ก่อให้เกิดผลผูกพันรัฐบาลในอนาคต ซึ่งคณะรัฐมนตรีที่ปฎิบัติหน้าที่ในช่วงที่มีการยุบสภาผู้แทนราษฎรไม่อาจกระทำการ อันมีผลต่อการอนุมัติงานหรือโครงการหรือมีผลต่อการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 มาตรา 169 (1) ประกอบมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2566 เรื่องแนวทางปฏิบัติอันเนื่องมาจากการยุบสภา ประกอบกับ ปัจจุบัน สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาน้ำมันดีเซล ณ โรงกลั่น ในประเทศลดลงตามไปด้วย

ดังนั้น ในการรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันดีเซลอยู่ในวิสัยที่กระทรวงพลังงาน โดยสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสามารถดำเนินการได้ และเมื่อคำนึงถึงข้อจำกัดด้านรายได้และข้อกฎหมายและไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน ในช่วงที่สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศกำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัว เห็นสมควรให้ใช้มาตรการของกองทุนน้ำมันที่มีฐานะการเงินดีขึ้นโดยลำดับ ทำหน้าที่ดูแลเสถียรภาพราคาน้ำมันดีเซล โดยกระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงานจะติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันอย่างใกล้ชิดต่อไป

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยังรายงานภาพรวมความสำเร็จของรัฐบาลในการดำเนินนโยบายการเงินการคลัง ช่วยรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมัน และตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 35 บาท/ลิตรน้ำมันดีเซล เสริมสร้างเสถียรภาพทางเสรษฐกิจมหภาค ลดผลกระทบต่อภาคธุรกิจ ไม่ให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลเพิ่มสูงขึ้นจนเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนจากสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบที่ผันผวนด้วย