สำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ วางแผนรับมือ “ผลผลิตลำไย” ครอบคลุมทุกมิติ

284

สำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ วางแผนรับมือ “ผลผลิตลำไย” ครอบคลุมทุกมิติ คาดผลผลิตเฉลี่ยภาพรวมลดลงเล็กน้อย เนื่องจากผลผลิตลำไยในฤดูขณะติดผลเล็ก เจอฝนทิ้งช่วง สภาพอากาศร้อนจัด ทำให้ผลลำไยร่วง

เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2566 นายเรวัติ แก้วเลิศตระกูล นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ สำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยในการแถลงข่าวสื่อมวลชนประจำสัปดาห์จังหวัดเชียงใหม่ ถึงสถานการณ์ผลิตลำไยในฤดูปีการผลิต 2566 ว่า ภาพรวมผลผลิตลำไยเฉลี่ยลดลงเล็กน้อย จากเดิม 878 กิโลกรัมต่อไร่ เป็น 824 กิโลกรัมต่อไร่ เนื่องจากผลผลิตลำไยในฤดูขณะติดผลเล็ก ประกอบกับเจอฝนทิ้งช่วง สภาพอากาศร้อนจัด ทำให้ผลลำไยร่วง โดยผลผลิตลำไยในฤดูรวมจะลดลงจากเดิม 269,856 ตัน เป็น 253,295 ตัน โดยคาดการณ์ว่าอำเภอทางโซนใต้ของจังหวัดจะได้เก็บเกี่ยวผลผลิตลำไยในฤดูก่อน ในห้วงกลางเดือนกรกฎาคม เป็นต้นไป และช่วงที่จะมีผลผลิตมกาที่สุดคือในเดือนสิงหาคม

ทั้งนี้ ปริมาณลำไยในฤดู จำนวน 253,295 ตัน จำแนกเป็น 2 ประเภท คือ ประเภทความต้องการบริโภคสด 26% ปริมาณ 71,491 ตัน แบ่งเป็นการบริโภคภายในประเทศ 13.23% ปริมาณ 36,391 ตัน และส่งออกต่างประเทศ 8 แห่ง 12.77% ปริมาณ 35,100 ตัน ส่วนอีกประเภท คือ ความต้องการบริโภคแบบแปรรูป 74% ปริมาณ 181,804 ตัน ประกอบด้วย การอบแห้งทั้งเปลือก ของผู้ประกอบการ 55 แห่ง และกลุ่มสหกรณ์ 71.95% ปริมาณ 176,767 ตัน การอบแห้งเนื้อสีทอง ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน 0.19% ปริมาณ 467 ตัน และการผลิตลำไยกระป๋อง ของผู้ประกอบการ 12 แห่ง 1.86% ปริมาณ 4,570 ตัน

อย่างไรก็ตาม จังหวัดเชียงใหม่ ได้มีการเตรียมรับมือสถานการณ์ลำไย โดยเตรียมสถานประกอบการรองรับผลผลิต ทั้งล้ง 163 แห่งทั่วจังหวัดเชียงใหม่, โรงงานแปรรูปกระป๋อง 12 บริษัท ปริมาณความต้องการ 5,000 ตัน, ผู้ประกอบการลำไยอบแห้ง 54 แห่ง รับลำไยสดได้ 7,438 ตันต่อวัน และผู้ประกอบการรับซื้อลำไยอบแห่ง 1 แห่ง ที่สามารถรับลำไยอบแห้งได้มากถึง 1,000,000 ตัน

ข่าว-ภาพ : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่