27 ก.ค. 66 – นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ผลสำรวจสถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยปี 2566 พบว่า คนไทยมีหนี้ครัวเรือนเฉลี่ย 559,400 บาท/ครัวเรือน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 11.5% เป็นหนี้ในระบบประมาณ 80% และอีก 20% เป็นหนี้นอกระบบ
จากกลุ่มตัวอย่างเผยว่าสาเหตุที่ก่อให้เกิดปัญหาหนี้ครัวเรือนมาจากการขาดวินัยทางการเงิน รองลงมา รายรับไม่พอกับรายจ่าย วางแผนการลงทุนผิดพลาด และมีความรู้ทางการเงินไม่เพียงพอ
โดยหนี้ครัวเรือนมีโอกาสสูงขึ้น และวงเงินก่อหนี้ น่าจะพีคสุดในช่วงปี 2567 ส่วนหนี้ครัวเรือนในปี 2566 สูงสุดจากที่ทำการสำรวจมาในรอบ 15 ปี โดยมีผลพวงมาจาก trade war ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และการระบาดของโควิด ตั้งแต่ปี 2562-2563 ทำให้คนก่อหนี้มากขึ้น และเศรษฐกิจฟื้นตัวช้ากว่าที่ควรจะเป็น
โดยสาเหตุของการเป็นหนี้ได้แก่
1.ค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น
2.ซื้อสินทรัพย์ถาวรเพิ่มขึ้น
3.รายได้ไม่พอกับรายจ่าย
4.ลงทุนในธุรกิจเพิ่มขึ้น
5.ใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตมาก
นอกจากนี้ จากผลการสำรวจยังพบว่าคน GEN Y และ GEN Z ถึง 76 % ยอมรับว่าใช้เงินแบบไม่วางแผน และ 60.5% มีการใช้จ่ายเงินเกินตัว และ 47.2 % กู้ยืมเงินในอนาคตมาใช้ โดยเฉพาะการรูดบัตรเครดิต มาใช้ก่อน ผ่อนทีหลัง